วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รูปลักษณ์ของพระพิฆเนศ

เทวรูปที่เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า


พระวรกาย
พระพิฆเนศทรงมีร่างกายเป็ยบุรุษเพศ อวบอ้วน พระกายมีหลายสีนับแต่สีแดง ขาว น้ำตาลปนแดง ทอง น้ำเงิน เหลือง เขียว สีขมิ้น ทองแดง ชมพู ส้มและดำ

พระเศียร
มีพระเศียรเป็นช้าง ตามคัมภีร์ตันตระกล่าวว่าควรมีขนาด 1/5 ของความยาวของลำตัว ปกติเป็นเศียรเดียวแต่บางครั้งอาจมีตั้งแต่ 2-5 เศียร ปางที่มี 5 เศียรที่ชื่อว่า เหรัมพะ นี้แพร่หลายในอินเดียและเนปาล โดยพระเศียรมักมีขนาดใหญ่กว่าลำตัว อาจหมายถึงการมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ความกล้าหาญและพละกำลังอันยิ่งใหญ่เมื่อต้องเผชิญกับความชั่วร้าย ในอีกทางหนึ่งช้างนั้นแม้จะรูปร่างใหญ่โตแต่ก็กินแต่ผัก หญ้า ผลไม้แสดงถึงความอ่อนโยน

พระเนตร
ตามปกติมี 2 พระเนตร ในลัทธิตันตระนิกายบางนิกายอาจมีพระเนตรที่ 3 อยู่หว่างพระนลาฎ (หน้าผาก) เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของเทพอัคนี แสดงขึ้นความเฉลียวฉลาด

พระนลาฏ
ส่วนใหญ่มีรูปพระจันทร์เสี้ยวเป็นสัญลักษณ์ เพื่อแสดงการเป็นพระญาติวงศ์แห่งศิวะเทพ หรือมีเส้นทั้ง 3 ในลัทธิไศวะนิกาย

เครื่องประดับ
เครื่องประดับพระเศียร - รูปสักการะบางรูปก็ไม่มีเครื่องประดับพระเศียร บางองค์ก็มีมงกุฏเป็นทรงแบนเรียบ เรียกว่า กรัณฑมกุฏ และในบางครั้งก็อาจมีเกศามุ่นเป็นมวย เรียกว่า ชฎามงกุฏ

เครื่องประดับพระศอ - มีสายยัชโญปวีตซึ่งเป็นสายศักดิ์สิทธิ์ที่นิยมเอางูมาประดับ นอกจากนั้นก็มีสร้อยคอประดับซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นที่สร้างเทวรูป

พระกรรณ
มีขนาดใหญ่อย่างหูช้าง อาจหมายถึงทรงสามารถในการกลั่นกรองความชั่วร้ายและเลือกรับเอาแต่สิ่งดีงาม ในปางศูรปกรรณ พระพิฆเนศใช้ใบหูโบกพัดชุบชีวิตพระอัคนีให้ฟื้นคืน

งา
โดยมากรูปเคารพของพระพิฆเนศจะมีงาสมบูรณ์เพียงข้างเดียว ที่เรียกกันว่า เอกทันตะ โดยในพระหัตถ์จะทรงถืองาที่หักไว้ งาที่หักนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่มาจากการปราบเหล่าอสูรเพื่อช่วยเหลือเหล่าเทวดา และมนุษย์

งวง
พระพิฆเนศมักมีงวงห้อยลงมาตรงๆ ส่วนปลายมักจะม้วนหันไปทางซ้าย อยู่ในท่าหยิบขนมโมทกะ งวงนี้สื่อถึงความฉลาด ความเข้มแข็ง ทรงพลังและยังเป็นสัญลักษณ์ของการช่างสังเกตุ วิเคราะห์ แยกแยะเรื่องราวต่างๆ

พระอุทร
มีลักษณะใหญ่พลุ้ย คาดด้วยเชือก แต่บางครั้งก็เป็นงู อันสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์

พระกร
มีจำนวนตั้งแต่ 2-10 พระกรหรืออาจจะมากกว่านั้น ในพระหัตถ์มีผลไม้, พืชผัก และอาวุธที่ถือตามพระกรต่างๆคือ งาหัก, ผลไม้ป่า, มะขวิด, ลูกหว้า, หัวผักกาด, ขนมโมทกะ, ผลทับทิม, ผลมะนาว, เนื้อหวาน, หนังสือ และศาสตรวุธต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น