วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รูปบูชาพระพิฆเนศในยุคสมัยต่างๆ

ลักษณะของรูปสักการะของพระพิฆเนศ แบ่งออกเป็น 4 ยุคได้แก่ ยุคดึกดำบรรพ์, ยุคคลาสสิค, ยุคกลางและพระพิฆเนศในยุคใหม่ 

การสร้างรูปบูชาพระพิฆเนศในยุคดึกดำบรรพ์อยู่บนพื้นฐานของความเคารพที่มีต่อเทพดั้งเดิมของชนพื้นเมือง ลักษณะของเทวรูปแบบดั้งเดิมจะเป็นก้อนหินธรรมชาติ สร้างด้วยรูปทรงง่ายๆ โดยแกะสลักเป็นรูปเทพเศียรเป็นช้างป่า ลำตัวเป็นบุรุษร่างอ้วน ประทับนั่ง มีการแต้มสีที่นลาฏของเทวรูปและประดับด้วยดอกไม้ แต่ไม่มีการทรงเครื่องศาสตราวุทธหรืออาภรณ์อันวิจิตรแต่อย่างใด 

ต่อมาในยุคคลาสสิค (พุทธศตวรรษที่ 4-5 ถึงพุทธศตวรรษที่ 14-15) การประดิษฐ์เทวรูปพระพิฆเนศในอินเดียมีความสง่างามแต่โดยมากไม่ทรงเครื่องประดับ เช่น เทวรูปที่มถุรา เมืองคุปตะ ปั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10, เทวรูปหินของพระพิฆเนศในโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร ปั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10, เทวรูปหินของพระพิฆเนศในขเมร สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13, เทวรูปหินของพระพิฆเนศที่ปราจีนบุรี สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 

ศิลปะการสร้างเทวรูปพระพิฆเนศในยุคกลาง (พุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 23-24) ของอินเดีย ได้ปรากฏว่าเทวรูปพระพิฆเนศมีหลายปางมากขึ้นและมีเครื่องทรงเพิ่มจากสองยุคก่อนอย่างมาก ส่วนวัสดุที่ใช้สร้างเทวรูปมีทั้งสัมฤทธิ์และหิน เช่น เทวรูปพระพิฆเนศสัมฤทธิ์ในโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร สร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง, เทวรูปหินในพิพิธภัณฑ์จันทรเกษม สร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง, เทวรูปหิน พบที่จังหวัดพังงา สร้างสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-16 และเทวรูปพระพิฆเนศสัมฤทธิ์ พบที่จังหวัดพังงา สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สมัยนั้นเรียกพระพิฆเนศว่า มหาวิคิเนกสุระ

การสร้างรูปสักการะพระพิฆเนศสมัยใหม่ (300-400 ปีที่ผ่านมา) เริ่มมีการประดิษฐ์ปางใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่น ปางทารกะคณบดี (ทารกนอนแป, ออกคลาน) ปางสายาสนคณบดี (นอนเล่น), ปางสังคีตคณบดี (เล่นดนตรี) และปางยาตราคณบดี (เดินทางแสวงบุญ) แต่ปางใหม่ๆเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีตำนานที่เกี่ยงข้อง ในอินเดียมีการประดิษฐ์รูปสักการะพระพิฆเนศใช้คอมพิวเตอร์ที่พนักงานไอทีตั้งไว้บูชาก่อนเปิดเครื่องทำงาน

พระพิฆเนศได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งการริเริ่ม ซึ่งมักได้รับการบูชาเมื่อมีการตั้งกิจการใหม่ หรือการทำกิจการงานใหม่ๆ นอกจากนั้นยังเป็นเทวะในศาสนาฮินดูที่เป็นผู้เชื่อมโยงความเชื่อของผู้คนในยุคดึกดำบรรพ์จนถึงยุคใหม่โดยจะเห็นได้จากรูปแบบความพัฒนาและความสร้างสรรค์จากความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพิฆเนศ

(ข้อมูลจาก หนังสือพระพิฆเนศ มหาเทพฮินดู ชมพูทวีปและอุษาคเนย์)

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสำคัญของพระพิฆเนศในนาฏศิลป์ไทย ตอนที่ 2

Natya Ganesha Image from Internet
ตามตำนานการฟ้อนรำของอินเดีย มหาเทพพระศิวะทรงเป็นอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวอินเดียยกย่องให้พระองค์เป็น "นาฏราช" หรือราชาแห่งการฟ้อนรำ จึงถือกันว่าพระศิวะเป็นผู้ให้กำเนิดนาฏศิลป์ ในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ ได้กล่าวถึงการฟ้อนรำของพระองค์ว่ามีบทบาทสำคัญมากในการเป็นต้นแบบแห่งการฟ้อนรำและแสดงถึงพลังในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจักรวาล 5 ประการได้แก่ การสร้าง การดูแลให้คงอยู่ การทำลสย การปิดบัง และการอนุเคราะห์ เป็นท่ารำลักษณะเข้มแข็งอย่างบุรุษ มีทั้งหมด 108 ท่า

ไทยได้รับอิทธิพลศิลปะนาฏกรรมของอินเดียใต้นี้ และนำมาดัดแปลงให้เหมาะสม สวยงามอย่างไทยๆจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไปในที่สุด เช่น การแสดงนาฏศิลป์ไทยชุด ตระนาฏราช

ตามตำนานกล่าวว่าทรงฟ้อนรำท่ามกลางคณะเทพซึ่งทรงดนตรีชนิดต่างๆ พระพรหมตีฉิ่ง พระลักษมีร้องเพลง พระคเณศตีกลอง และเทพบุตรนนทิตีตะโพน เป็นต้น และเล่ากันว่าพระพิฆเนศผู้ทรงปัญญาฉลาดเฉลียวสามารถจดจำท่าร่ายรำของพระศิวะได้ทั้งหมด ภาพพระพิฆเนศตีกลองปรากฏอยู่ในทับหลังศิวนาฏราช ศิลปแบบนครวัด ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ปราสาทศรีขรภูมิ สุรินทร์
ทับหลังศิวนาฏราชที่ปราสาทศรีขรภูมิ และภาพพระพิฆเนศตีกลอง
พระคเณศมีฐานะเป็นบรมครูองค์หนึ่งในพิธีไหว้ครูของนาฏศิลป์ไทย ที่มีรูปเคารพลักษณะหัวโขนมีเศียรเป็นช้าง สีแดง งาหักเหลือเพียงข้างเดียว ทรงมงกุฏเทริดน้ำเต้ากลม สาเหตุที่ช่างไทยปั้นหัวโขนพระพิฆเนศให้มีสีแดงนั้นอาจเป็นเพราะความเชื่อจากนารายณ์สิบปางว่าทรงกำเนิดจากพระเพลิง หรือกำเนิดของพระองค์จากดอกบัวที่ผุดขึ้นจากนาภีของพระนารายณ์ในขณะบรรทมอยู่กลางเกษียรสมุทร และนอกจากนั้นอาจจะมาจากความเชื่อของชาวเอเชียที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ สีแห่งมงคลและความรุ่งเรือง ความกล้าหาญ พลังงานและโชคลาภ

นอกจากทรงเป็นบรมครูทางนาฏศิลป์แล้วพระพิฆเนศยังปรากฏในฐานะตัวละครในนาฏศิลป์ไทยด้วย โดยปรากฏในเนื้อหาดังต่อไปนี้

1. พระคเณศในรามเกียรตื์ไทย
คัมภีร์นารายณ์ 10 ปาง เก็บความมาจากเรื่องรามายณะ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะเรื่องการอวตารของพระนารายณ์เท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงกำเนิดของเทพเจ้าต่างๆรวมถึงพระพิฆเนศด้วย ในงานนาฏยกรรมประเภทโขนจะเล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้นเพราะถือว่าเป็นเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าและมีการนำเรื่องของพระพิฆเนศมาดัดแปลงเป็นการแสดงชุดต่างๆดังนี้

  • ระบำกุญชรเกษม จากเทพนิยายเรื่อง "กำเนิดพระพิฆเนศ" ซึ่งกรมศิลปากรโดยนายเสรี หวังในธรรมศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง จัดทำบทละครโดยนำความมาจากรามเกียรตื์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 และหนังสือเทวปาง ตอนพระคเณศกำเนิดจากดอกบัวที่ผุดขึ้นจากนาภีของพระนารายณ์ ด้วยเหตุที่กุมารน้อยมีพลังอำนาจมหาศาล จึงถือกันว่าทรงเป็นปฐมบทแห่งการกำเนิดช้างเผือกบัลดาลให้เกิดช้างเผือกสิบตระกูล ดังนั้นกรมศิลปากรจึงประดิษฐ์การแสดงชุดระบำกุญชรเกษมขึ้น
  • นอกจากนั้นกรมศิลปากรยังแต่งบทการแสดงอื่นๆที่มีพระพิฆเนศเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ ระบำวานรพงษ์, ระบำวีรชัยสิบแปดมงกุฏ ซึ่งมาจากตอนหนึ่งของรามเกียรติ์ที่พระศิวะให้เหล่าเทพอวตารมาเป็นวานรทรงฤทธิ์เพื่อช่วยเหลือพระรามปราบอธรรม ซึ่งพระคเณศได้อวตารมาเป็นวานรชื่อ "นิลขัน" หนึ่งในสิบแปดมงกุฏของกองทัพวานร โดยมีสีกายเป็นสีแดง บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 ที่เกี่ยวกับตอนนี้กล่าวไว้ว่า                                     
                                            "พระราหูฤทธิไกรชัยชาญ        เป็นทหารชื่อนิลปาขัน
                                             พระพินายเป็นนิลเอก             พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน"
                                   "พานร ตนนี่นี้                       นามนิล ขันพ่อ
                                    กายเหลื่อมสีหงส์ดิน             เดชแกล้ว
                                    คือพระพิเนตรพิน                 ผันภาค มานา
                                    เปรียบดุจขุนผลแก้ว              เกิดด้วยบุณย์ราม"
2. พระคเณศในละครเบิกโรง
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพิฆเนศเป็นอย่างมาก ได้ทรงนำความมาจาก "พรหมไววรรตปุราณคัมภีร์" พระราชนิพนธ์เป็นบทละครเบิกโรงเรื่อง "พระคเณศร์เสียงา" ตามที่เหมาะสมแก่การเล่นละคร โดยนำความจากตอนพระคเณศสู้กับปรศุราม โดยทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนเสภาไว้ว่า

                                  "แถลงเรื่องพระคเณศวิเศษศักดิ์        ลูกพระจอมไตรจักรมหาศาล
                         เรืองอิทธิฤทธิ์ไกรวิไชญชาญ                     ชำนิชำนาญเจนจิตวิทยา
                         เศียรเธอเปนเศียรกะรีสีแดงชาด                 แสนประหลาดน่าดูเป็นหนักหนา
                         แต่เยาว์วัยเธอไซร้ได้เสียงา                      เพราะแกล้วกล้าสามิภักดิ์พระบิตุรงค์
                         ด้วยรามปรศุมาไกรลาส                            จะเฝ้าพระปิตุราชดังประสงค์
                         จะเข้าไปในวิมานบรรยงก์                          พระคชพักตร์จึงตรงเข้าห้ามปราม
                         จึ่งได้เกิดโกรธขึ้งถึงวิวาท                          ต่างคนต่างอาจไม่เกรงขาม
                         พระคณาบดีเสียทีพราหมณ์                       ปรศุรามขว้างขวานไปราญรอน
                         คเณศเห็นขวานเพ็ชรระเห็จมา                    ก็รู้ว่าพระบิดามหิศร
                         ประทานพราหมณ์รามณรงค์ให้คงกร            จะสู้ขวานพระบิดรไม่ควรกัน
                         จึ่งก้มเศียรคอบรับให้มั่นเหมาะ                   ขวานจำเพาะถูกงาข้างหนึ่งสบั้น
                         จึ่งคงงาข้างเดียวแต่ปางนั้น                        เลยมีนามว่าเอกทันต์บรรฤาแรง
                         กายาเธอจ้ำม่ำและล่ำสัน                           ผิวโรหิตะพรรณกั่นกำแหง
                         ทรงเครื่องเรืองรามอร่ามแดง                      แสงกายจับแสงวราภรณ
                         เปนใหญ่ในปวงวิทยา                                สง่าทรงซึ่งวินัยสโมสร
                         เนืองนิตย์ประสิทธิ์ประสาทพร                     สถาวรสวัสดิ์วัฒนา
                         ชนใดหวังข้ามอุปะสรรค                             พึ่งพำนักพิฆเนศนาถา
                         สำเร็จเสร็จสมดังจินดา                               พระองค์พาข้ามพิฆนะจัญไร"

ต่อมาอาจารย์เสรี หวังในธรรมแห่งกรมศิลปากรได้นำมาจัดทำบทละครใหม่โดยความเหมือนเดิมชื่อว่า "พระวินัยบดีศรีศิลปะ"

(ข้อมูลจาก พระคเณศ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยา Ganesha: God of Arts)

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระพิฆเนศ หนึ่งในเทพผู้พิทักษ์พุทธสถาน

ภาพจาก Internet

จากความเชื่อของบรรพบุรุษไทยสมัยโบราณในยุคที่นิยมสร้างวัดวาอารามมากกว่าศูนย์การค้าหรือคอมมิวนิตี้มอลล์ ท่านนิยมอัญเชิญ (หรือวาด) รูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ที่หน้าต่าง บานประตูวัดและโบสถ์ด้วยเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นช่วยพิทักษ์รักษาพุทธสถาน ป้องกันภัยอันตรายและสิ่งอัปมงคลไม่ให้กล้ำกรายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และหนึ่งในเหล่าเทพที่บรรพบุรุษไทยอัญเชิญมารักษาศาสนาสถานแห่งสำคัญๆในกรุงเทพ๚ ก็คือพระพิฆเนศ เทพฮินดูผู้ทรงปัญญาและขจัดอุปสรรคทั้งหลายนั่นเอง ศาสนสถานในกรุงเทพ๚ ที่ปรากฏภาพจิตรกรรมพระพิฆเนศในฐานะเทพผู้พิทักษ์ ได้แก่

1. พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
ภาพจิตรกรรมของพระพิฆเนศมีปรากฏอยู่บนหน้าต่างบานที่ 14 ของพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้างมองเห็นได้ 3 พักตร์ มี 8 กร ทรงศาสตราวุทธขอช้าง, ขวาน, ค้อน, แก้วมณีสีขาว, ตรีศูล, เชือกบ่วงบาศและดอกบัวตูม ข้างใต้ภาพมีข้อความว่า "พระพิกฆเนศวร"

อีกภาพที่ปรากฏบนหน้าต่างบานที่ 19 และ 20 โดยบานที่ 19 ปรากฏเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้าง มี 8 กร ทรงขอช้าง ขวาน งาช้าง ตรีศูล เชือกบ่วงบาศ พัต ภาพระบุข้อความว่า "พระวิกฆิเนศวร" ส่วนบานที่ 20 ต่างกันตรงที่ทรงมี 2 กร ทรงตรีศูลและดอกบัวตูม มีข้อความระบุว่า "พระวิฆเนศวร"

บนหน้าต่างบานที่ 25 ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีน้ำตาล มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กรทรงขอช้าง แก้วมณี บ่วงบาศ และมีพาหนะทรงเป็นหนูขาวมุสิกะ มีข้อความระบุว่า "พระมหาวิฆเนก ทรงมุสิกะพาหนะปราบสระภังคี" สระภังคีก็คืออสุรภังคีที่กล่าวถึงในตำนานกำเนิดพระพิฆเนศนั่นเอง

บนหน้าต่างบานที่ 26 ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีน้ำตาล มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กร ทรงขอช้าง คัมภีร์ใบลาน เชือกบ่วงบาศ แก้วมณีสีขาว และมีพาหนะทรงเป็นเต่า ภาพนี้มีข้อความระบุว่า "พระมหาวิฆเนกทรง...พาหนะไปขษิรสมุทร" ในหนังสือได้กล่าวว่า ภาพพระพิฆเนศประทับบนหลังเต่านี้คล้ายกับพระคเณศในลัทธิมหายานบางรูป และคล้ายกับรูปเคารพของศาสดาองค์ที่ 23 (PARSVA YAKSA) ของศาสนาเชนด้วย

บนหน้าต่างบานที่ 43 ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้าง มี 2 กร ทรงสังข์กับเชือกบ่วงบาศ ที่ภาพมีข้อความระบุว่า "พระมหาวิฆิเนก" 

บนหน้าต่างบานที่ 44 เป็นรูปพระเทวกรรมหรือพระพิฆเนศในด้านที่เป็นบรมครูทางคชศาสตร์ ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีน้ำตาล มีเศียรเป็นช้าง มี 2 กร ทรงสังข์กับไม้เท้า ที่ภาพมีข้อความระบุว่า "พระเทวกรรม" ชื่อของพระเทวกรรมปรากฏในคัมภีร์นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวงในตอนต้นเรื่อง ในพิธีกรรมที่พระนารายณ์ปราบช้างเอกทันต์ ทรงร่ายมนตร์ เอาพระเฆอปักลงบนพื้น จากนั้นทรงนำรัศมีของพระเพลิงมาประดิษฐาน ทรงถอดสายธุรำมาอธิษฐานเป็นพระเทวกรรม ให้ประจำทางด้านซ้ายแล้วให้พระพิฆเนศประจำทางด้านขวา จากนั้นก็ทรงลงมือปราบช้างเอกทันต์ 

2. พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาสหรือวัดพระแก้ววังหน้า
ภาพจิตรกรรมของพระพิฆเนศมีปรากฏอยู่บนหน้าต่างบานที่ 7 หน้าต่างบานที่ 8 หน้าต่างบานที่ 9 และหน้าต่างบานที่ 10 ของพระอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า 

จิตรกรรมบนหน้าต่างบานที่ 7 ปรากฏเทพบุรุษมีเศียรเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว มี 2 กร ทรงบ่วงบาศและงาที่หัก ซึ่งอาจเทียบได้กับภาพ "พระเทวะกรรม์ยืน" ในตำราภาพ  หมายเลข 32 ส่วนบนหน้าต่างบานที่ 8 ปรากฏเป็นเทพบุรุษลักษณะคล้ายบานที่ 7 แต่ในพระหัตถ์ทรงถืองาหักอย่างเดียว และประทับนั่ง เทีบได้กับภาพ "พระเทวะกรรม์หนั่ง" ในตำราภาพ  หมายเลข 32

จิตรกรรมบนหน้าต่างบานที่ 9 ปรากฏเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กร ทรงศาสตราวุทธขอช้าง, ค้อน, เชือกบ่วงบาศและงาที่หัก พาหนะทรงคือเต่า มีลักษณะใกล้เคียงกับภาพ "พระมหาวิกฆิเนตรไปเกษียรสมุทร" ส่วนหน้าต่างบานที่ 10 ปรากฏเป็นลักษณะรูปกายเหมือนบานที่ 9 แต่ทรงศาสตราวุทธ ก้อนเหล็กแดง, งาที่หัก, บ่วงบาศมัดอสูรหน้าเป็นช้าง หางเป็นปลาอยู่เบื้องล่าง
พาหนะทรงคือหนูขาวมุสิกะ ซึ่งตรงกับภาพ "พระมหาวิกฆิเนตรปราบอสูรภังฆี" ในตำราภาพ  หมายเลข 70 และจรงกับภาพจิตรกรรม "พระมหาวิฆเนก ทรงมุสิกะพาหนะปราบสระภังคี" หลังบานหน้าต่างที่ 25 ของพระอุโบสถวัดสุทัศน์ 

(ส่วนภาพถ่ายของสถานที่และจิตรกรรมจะทยอยอัพเดตในครั้งถัดไป)
(ข้อมูลจาก "เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธสถาน")

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โขนตอนพระคเณศเสียงาและนาฏศิลป์อื่นๆที่เกี่ยวกับพระพิฆเนศ

ชมโขนตอนพระคเณศเสียงาได้ที่นี่
ฟังเสียงร้องโขนตอนพระพิฆเนศเสียงา
การแสดงพระคเณศร์เสียงา ในรายการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 7 รอบปีฉลูนักษัตร











พราหมณ์ปรศุราม มีฤทธิ์เดชมาก เป็นหัวหน้าแห่งพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นผู้ที่องค์มหาศิวะเทพพอพระทัยเป็นอย่า­งมาก และทรงมอบขวานเพชร ให้เป็นอาวุธ และให้สิทธิเข้าเฝ้าพระองค์ได้ทุกเมื่อที่­ต้องการ ครั้นหนึ่ง ก่อนที่องค์พระศิวะมหาเทพ จะเข้าบำเพ็ญสมาธิญาณ ได้สั่งให้องค์พระพิฆเนศ เฝ้าประตูทางเข้าไว้ ห้ามมิให้ใครผู้ใด ก็แล้วแต่เข้าไปรบกวน ขณะทำสมาธิได้ องค์พระพิฆเนศก็รับพระบัญชาแห่งองค์มหาศิว­ะเทพ ทำการเฝ้าทางเข้านั้นไว้ซึ่งประจวบกับเป็น­วันที่พราหมณ์ปรศุราม ต้องการที่จะเข้าเฝ้าองค์มหาศิวะเทพ จึงเร่งเดินทางไปยังเขาไกรลาศ อันเป็นที่ประทับแห่งองค์มหาศิวะเทพครั้นเ­ดินทางไปถึงนั้น ก็ได้พบกับองค์พระพิฆเนศ นั่งเฝ้าทางขึ้นไว้อยู่ พราหมณ์ปรศุราม ก็ไม่ได้สนใจแต่อย่างใด ได้แต่ดั้นด้นที่จะเข้าเฝ้าองค์พระศิวะให้­ได้แต่อย่างเดียว เมื่อพระพิฆเนศเห็นดังนั้น จึงเข้าไปห้ามปราม ปรศุราม ว่า ขณะนี้องค์มหาศิวะเทพ นั้นกำลังบำเพ็ญสมาธิญาณอยู่ สั่งไม่ให้ใครผู้ใดขึ้นไปรบกวนพระองค์ ปรศุรามก็หาได้ฟังคำเตือนขององค์พระพิฆเนศ­แต่อย่างใด


ชมรำพระคเณศประทานพรได้ที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความสำคัญของพระพิฆเนศในนาฏศิลป์ไทย ตอนที่ 1

พระพิฆเนศได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นเทพที่ประทานความสำเร็จและขจัดอุปสรรคให้แก่ผู้สักการะ และได้รับการยกย่องให้เป็นเทพผู้แตกฉานในหลายๆศาสตร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนาฏศาสตร์

ดังที่ปรากฏในหนึ่งจากสามสิบสองปางของพระพิฆเนศคือปางนาฏศิลป์ เจ้าแห่งลีลาการร่ายรำและศิลปะการแสดง เป็นปางที่พระวรกายเป็นสีเหลืองทอง มีสี่กร เป็นนักเต้นร่ายรำและสร้างความสุขให้ชาวโลก ในพระหัตถ์ทรงกระบอง บ่วงบาศ ขวานและงาหัก ประทับยืนเข่าขวาเหยียบบนดอกบัว พระพิฆเนศทรงเป็นเทพที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในศาสตร์แขนงนี้ นับตั้งแต่การบูชาไหว้บรมครูทางนาฏศิลป์ การบวงสรวงก่อนเริ่มการแสดงหรือประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการแสดง รวมถึงความเชื่อที่ว่าทำไมโจงกระเบนที่นักเรียนนาฏศิลป์นุ่งจึงมีสีแดง



ในการไหว้ครูนาฏศิลป์หรือพิธีไหว้ครู เป็นพิธีที่ลูกศิษย์จะแสดงความเคารพ ความจริงใจและความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์และเชื่อว่าผู้ที่ไหว้ครูด้วยความจริงใจจะเป็นผู้มีปัญญา ไม่ตกต่ำและทำให้ความรู้และสรรพวิทยาการทั้งหลายเจริญก้าวหน้า พิธีไหว้ครูจะประกอบกันในวันพฤหัสบดีเท่านั้นเพราะเชื่อว่าพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤาษีและเป็นบรมครูของเหล่าทวยเทพ ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าวันพฤหับดีเป็นวันครู ในการทำพิธีจะมีการตั้งวางโขนศีรษะของเทพเจ้าและศีรษะโขน โดยโขนศีรษะของพระพิฆเนศจะมีสีแดง
และวางไว้ตรงกลางโต๊ะหมู่ หัวโขนพระพิฆเนศ แทนสัญลักษณ์องค์พระพิฆเนศ ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ สติปัญญาศิลปศาสตร์ เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล เป็นเทพผู้อยู่เหนือการรจนาหนังสือ  คนไทยนับถือพระคเณศในฐานะเทพผู้ขจัดอุปสรรค เทพผู้คุ้มครองเด็ก เทพบริวารของเทพชั้นสูงสุด ๓ พระองค์ (ตรีมูรติ) พระเทวกรรมในฐานะบรมครูช้างเทพผู้เป็นนายทวารบาล นอกจากปราฏกของพระพิฆเนศในพิธีไหว้ครูแล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับพระ


พิฆเนศยังปรากฏเป็นสัญลักษณ์ในเครื่องแต่งกายของนักเรียนนาฏศิลป์ด้วย บางท่านเชื่อกันว่าสีแดงของโจงกระเบนที่นักเรียนนาฏศิลป์นุ่งมาจากสีของโขนเศียรพระพิฆเนศ เพื่อให้ท่านอำนวยพรให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการฝึกฝน



ความสำคัญของพระพิฆเนศในนาฏศิลป์ไทย ตอนที่ 2

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คเณศานี (Ganeshani) พระพิฆเนศในภาคที่เป็นสตรี

ภาพจาก http://www.saisathyasai.com
คเณศานี (Ganeshani) หรือไวนายกี (Vainayaki) เชื่อกันว่าเป็นภาคหนึ่งของพระพิฆเนศที่มีรูปกายเป็นสตรี สังเกตุได้จากรูปสักการะที่มีเศียรเป็นช้างแบบพระคเณศแต่มีหน้าอกใหญ่แบบเพศหญิง เป็นลักษณะรูปสักการะของเทพีหรือโยคินีในลัทธิตันตระ รูปสักการะพระพิฆเนศวรภาคที่เป็นสตรีนี้พบมากทางใต้ของประเทศอินเดียที่ เมืองทมิฬนาดูและแถบประเทศทิเบต ในคัมภีร์ปุราณะบางเล่มได้กล่าวถึงพระนามของโยคินีต่างๆที่อาจหมายถึงภาคสตรีของพระพิฆเนศด้วย เช่น คัมภีร์มัสตยปุราณะกล่าวถึงชื่อไวนายกี (Vainayaki) ส่วนคัมภีร์เทวีสหัสนามกล่าวถึงชื่อวินายิกี (Vinayiki), ลัมโพทรี (Lamfodari) และคเณศวรี (Ganesvari) ที่สื่อถึงพระพิฆเนศด้วย ผู้บูชามักบูชาขอประทานบุตรจากเทวีคเณศานี นอกจากนั้นเทวีคเณศานียังเปรียบเสมือนเทวีผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวง 

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หลักธรรมที่แฝงอยู่ในตำนานต่างๆของพระพิฆเนศ


  1. การให้ความเคารพต่อบิดามารดา หลักธรรมนี้ปรากฏในตำนานเรื่องการอภิเษกของพระพิฆเนศ
  2. การมีสัมมาทิฐิ สนับสนุนในสิ่งอันควร หลักธรรมนี้ปรากฏในตำนานเรื่องการสั่งสอนท้าวกุเวร
  3. การใช้ความดีเอาชนะความชั่ว หลักธรรมนี้ปรากฏในมหากาพย์รามเกียรติ์ซึ่งพระรามเป็นตัวแทนของความดีทั้งปวงและยักษ์ทศกัณฑ์เป็นตัวแทนของความชั่วทั้งปวง และตำนานกำเนิดต่างๆของพระพิฆเนศที่ปราบอสูรอันเปรียบเสมือนความชั่วร้ายในโลก
  4. ความซื่อสัตย์ต่อคู่ครองของตน หลักธรรมนี้ปรากฏในมหากาพย์รามเกียรติ์โดยมีนางสีดาเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์นั้น
  5. เรื่องของความกตัญญูและผู้มีคุณธรรมย่อมถือสัจจะ หลักธรรมนี้ปรากฏในมหากาพย์รามเกียรติ์ในตอนที่พระรามยอมถูกเนรเทศให้ไปอยู่ป่าเป็นเวลา 14 ปีโดยไม่มีความผิด เพียงแต่ต้องการรักษาสัญญาของพระบิดาเท่านั้น
  6. ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ หลักธรรมนี้ปรากฏในตำนานกำเนิดพระพิฆเนศในคัมภีร์ศิวะปุราณะและคัมภีร์มัสตยปุราณะที่พระพิฆเนศทำหน้าที่เป็นทวารบาลให้พระแม่อุมาขณะสรงน้ำ จนต้องทำสงครามกับพระศิวะและเหล่าเทพบริวาร
  7. หลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องการประหารความโลภ ในตำนานกำเนิดอวตารคชนัน
  8. หลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องการประหารความใคร่ ในตำนานกำเนิดอวตารวิกฏะ
  9. หลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องการประหารความโอหัง ในตำนานกำเนิดอวตารธูรมวรรณ