วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รูปบูชาพระพิฆเนศในยุคสมัยต่างๆ

ลักษณะของรูปสักการะของพระพิฆเนศ แบ่งออกเป็น 4 ยุคได้แก่ ยุคดึกดำบรรพ์, ยุคคลาสสิค, ยุคกลางและพระพิฆเนศในยุคใหม่ 

การสร้างรูปบูชาพระพิฆเนศในยุคดึกดำบรรพ์อยู่บนพื้นฐานของความเคารพที่มีต่อเทพดั้งเดิมของชนพื้นเมือง ลักษณะของเทวรูปแบบดั้งเดิมจะเป็นก้อนหินธรรมชาติ สร้างด้วยรูปทรงง่ายๆ โดยแกะสลักเป็นรูปเทพเศียรเป็นช้างป่า ลำตัวเป็นบุรุษร่างอ้วน ประทับนั่ง มีการแต้มสีที่นลาฏของเทวรูปและประดับด้วยดอกไม้ แต่ไม่มีการทรงเครื่องศาสตราวุทธหรืออาภรณ์อันวิจิตรแต่อย่างใด 

ต่อมาในยุคคลาสสิค (พุทธศตวรรษที่ 4-5 ถึงพุทธศตวรรษที่ 14-15) การประดิษฐ์เทวรูปพระพิฆเนศในอินเดียมีความสง่างามแต่โดยมากไม่ทรงเครื่องประดับ เช่น เทวรูปที่มถุรา เมืองคุปตะ ปั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10, เทวรูปหินของพระพิฆเนศในโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร ปั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10, เทวรูปหินของพระพิฆเนศในขเมร สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13, เทวรูปหินของพระพิฆเนศที่ปราจีนบุรี สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 

ศิลปะการสร้างเทวรูปพระพิฆเนศในยุคกลาง (พุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 23-24) ของอินเดีย ได้ปรากฏว่าเทวรูปพระพิฆเนศมีหลายปางมากขึ้นและมีเครื่องทรงเพิ่มจากสองยุคก่อนอย่างมาก ส่วนวัสดุที่ใช้สร้างเทวรูปมีทั้งสัมฤทธิ์และหิน เช่น เทวรูปพระพิฆเนศสัมฤทธิ์ในโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร สร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง, เทวรูปหินในพิพิธภัณฑ์จันทรเกษม สร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง, เทวรูปหิน พบที่จังหวัดพังงา สร้างสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-16 และเทวรูปพระพิฆเนศสัมฤทธิ์ พบที่จังหวัดพังงา สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สมัยนั้นเรียกพระพิฆเนศว่า มหาวิคิเนกสุระ

การสร้างรูปสักการะพระพิฆเนศสมัยใหม่ (300-400 ปีที่ผ่านมา) เริ่มมีการประดิษฐ์ปางใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่น ปางทารกะคณบดี (ทารกนอนแป, ออกคลาน) ปางสายาสนคณบดี (นอนเล่น), ปางสังคีตคณบดี (เล่นดนตรี) และปางยาตราคณบดี (เดินทางแสวงบุญ) แต่ปางใหม่ๆเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีตำนานที่เกี่ยงข้อง ในอินเดียมีการประดิษฐ์รูปสักการะพระพิฆเนศใช้คอมพิวเตอร์ที่พนักงานไอทีตั้งไว้บูชาก่อนเปิดเครื่องทำงาน

พระพิฆเนศได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งการริเริ่ม ซึ่งมักได้รับการบูชาเมื่อมีการตั้งกิจการใหม่ หรือการทำกิจการงานใหม่ๆ นอกจากนั้นยังเป็นเทวะในศาสนาฮินดูที่เป็นผู้เชื่อมโยงความเชื่อของผู้คนในยุคดึกดำบรรพ์จนถึงยุคใหม่โดยจะเห็นได้จากรูปแบบความพัฒนาและความสร้างสรรค์จากความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพิฆเนศ

(ข้อมูลจาก หนังสือพระพิฆเนศ มหาเทพฮินดู ชมพูทวีปและอุษาคเนย์)

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสำคัญของพระพิฆเนศในนาฏศิลป์ไทย ตอนที่ 2

Natya Ganesha Image from Internet
ตามตำนานการฟ้อนรำของอินเดีย มหาเทพพระศิวะทรงเป็นอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวอินเดียยกย่องให้พระองค์เป็น "นาฏราช" หรือราชาแห่งการฟ้อนรำ จึงถือกันว่าพระศิวะเป็นผู้ให้กำเนิดนาฏศิลป์ ในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ ได้กล่าวถึงการฟ้อนรำของพระองค์ว่ามีบทบาทสำคัญมากในการเป็นต้นแบบแห่งการฟ้อนรำและแสดงถึงพลังในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจักรวาล 5 ประการได้แก่ การสร้าง การดูแลให้คงอยู่ การทำลสย การปิดบัง และการอนุเคราะห์ เป็นท่ารำลักษณะเข้มแข็งอย่างบุรุษ มีทั้งหมด 108 ท่า

ไทยได้รับอิทธิพลศิลปะนาฏกรรมของอินเดียใต้นี้ และนำมาดัดแปลงให้เหมาะสม สวยงามอย่างไทยๆจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไปในที่สุด เช่น การแสดงนาฏศิลป์ไทยชุด ตระนาฏราช

ตามตำนานกล่าวว่าทรงฟ้อนรำท่ามกลางคณะเทพซึ่งทรงดนตรีชนิดต่างๆ พระพรหมตีฉิ่ง พระลักษมีร้องเพลง พระคเณศตีกลอง และเทพบุตรนนทิตีตะโพน เป็นต้น และเล่ากันว่าพระพิฆเนศผู้ทรงปัญญาฉลาดเฉลียวสามารถจดจำท่าร่ายรำของพระศิวะได้ทั้งหมด ภาพพระพิฆเนศตีกลองปรากฏอยู่ในทับหลังศิวนาฏราช ศิลปแบบนครวัด ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ปราสาทศรีขรภูมิ สุรินทร์
ทับหลังศิวนาฏราชที่ปราสาทศรีขรภูมิ และภาพพระพิฆเนศตีกลอง
พระคเณศมีฐานะเป็นบรมครูองค์หนึ่งในพิธีไหว้ครูของนาฏศิลป์ไทย ที่มีรูปเคารพลักษณะหัวโขนมีเศียรเป็นช้าง สีแดง งาหักเหลือเพียงข้างเดียว ทรงมงกุฏเทริดน้ำเต้ากลม สาเหตุที่ช่างไทยปั้นหัวโขนพระพิฆเนศให้มีสีแดงนั้นอาจเป็นเพราะความเชื่อจากนารายณ์สิบปางว่าทรงกำเนิดจากพระเพลิง หรือกำเนิดของพระองค์จากดอกบัวที่ผุดขึ้นจากนาภีของพระนารายณ์ในขณะบรรทมอยู่กลางเกษียรสมุทร และนอกจากนั้นอาจจะมาจากความเชื่อของชาวเอเชียที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ สีแห่งมงคลและความรุ่งเรือง ความกล้าหาญ พลังงานและโชคลาภ

นอกจากทรงเป็นบรมครูทางนาฏศิลป์แล้วพระพิฆเนศยังปรากฏในฐานะตัวละครในนาฏศิลป์ไทยด้วย โดยปรากฏในเนื้อหาดังต่อไปนี้

1. พระคเณศในรามเกียรตื์ไทย
คัมภีร์นารายณ์ 10 ปาง เก็บความมาจากเรื่องรามายณะ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะเรื่องการอวตารของพระนารายณ์เท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงกำเนิดของเทพเจ้าต่างๆรวมถึงพระพิฆเนศด้วย ในงานนาฏยกรรมประเภทโขนจะเล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้นเพราะถือว่าเป็นเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าและมีการนำเรื่องของพระพิฆเนศมาดัดแปลงเป็นการแสดงชุดต่างๆดังนี้

  • ระบำกุญชรเกษม จากเทพนิยายเรื่อง "กำเนิดพระพิฆเนศ" ซึ่งกรมศิลปากรโดยนายเสรี หวังในธรรมศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง จัดทำบทละครโดยนำความมาจากรามเกียรตื์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 และหนังสือเทวปาง ตอนพระคเณศกำเนิดจากดอกบัวที่ผุดขึ้นจากนาภีของพระนารายณ์ ด้วยเหตุที่กุมารน้อยมีพลังอำนาจมหาศาล จึงถือกันว่าทรงเป็นปฐมบทแห่งการกำเนิดช้างเผือกบัลดาลให้เกิดช้างเผือกสิบตระกูล ดังนั้นกรมศิลปากรจึงประดิษฐ์การแสดงชุดระบำกุญชรเกษมขึ้น
  • นอกจากนั้นกรมศิลปากรยังแต่งบทการแสดงอื่นๆที่มีพระพิฆเนศเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ ระบำวานรพงษ์, ระบำวีรชัยสิบแปดมงกุฏ ซึ่งมาจากตอนหนึ่งของรามเกียรติ์ที่พระศิวะให้เหล่าเทพอวตารมาเป็นวานรทรงฤทธิ์เพื่อช่วยเหลือพระรามปราบอธรรม ซึ่งพระคเณศได้อวตารมาเป็นวานรชื่อ "นิลขัน" หนึ่งในสิบแปดมงกุฏของกองทัพวานร โดยมีสีกายเป็นสีแดง บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 ที่เกี่ยวกับตอนนี้กล่าวไว้ว่า                                     
                                            "พระราหูฤทธิไกรชัยชาญ        เป็นทหารชื่อนิลปาขัน
                                             พระพินายเป็นนิลเอก             พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน"
                                   "พานร ตนนี่นี้                       นามนิล ขันพ่อ
                                    กายเหลื่อมสีหงส์ดิน             เดชแกล้ว
                                    คือพระพิเนตรพิน                 ผันภาค มานา
                                    เปรียบดุจขุนผลแก้ว              เกิดด้วยบุณย์ราม"
2. พระคเณศในละครเบิกโรง
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพิฆเนศเป็นอย่างมาก ได้ทรงนำความมาจาก "พรหมไววรรตปุราณคัมภีร์" พระราชนิพนธ์เป็นบทละครเบิกโรงเรื่อง "พระคเณศร์เสียงา" ตามที่เหมาะสมแก่การเล่นละคร โดยนำความจากตอนพระคเณศสู้กับปรศุราม โดยทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนเสภาไว้ว่า

                                  "แถลงเรื่องพระคเณศวิเศษศักดิ์        ลูกพระจอมไตรจักรมหาศาล
                         เรืองอิทธิฤทธิ์ไกรวิไชญชาญ                     ชำนิชำนาญเจนจิตวิทยา
                         เศียรเธอเปนเศียรกะรีสีแดงชาด                 แสนประหลาดน่าดูเป็นหนักหนา
                         แต่เยาว์วัยเธอไซร้ได้เสียงา                      เพราะแกล้วกล้าสามิภักดิ์พระบิตุรงค์
                         ด้วยรามปรศุมาไกรลาส                            จะเฝ้าพระปิตุราชดังประสงค์
                         จะเข้าไปในวิมานบรรยงก์                          พระคชพักตร์จึงตรงเข้าห้ามปราม
                         จึ่งได้เกิดโกรธขึ้งถึงวิวาท                          ต่างคนต่างอาจไม่เกรงขาม
                         พระคณาบดีเสียทีพราหมณ์                       ปรศุรามขว้างขวานไปราญรอน
                         คเณศเห็นขวานเพ็ชรระเห็จมา                    ก็รู้ว่าพระบิดามหิศร
                         ประทานพราหมณ์รามณรงค์ให้คงกร            จะสู้ขวานพระบิดรไม่ควรกัน
                         จึ่งก้มเศียรคอบรับให้มั่นเหมาะ                   ขวานจำเพาะถูกงาข้างหนึ่งสบั้น
                         จึ่งคงงาข้างเดียวแต่ปางนั้น                        เลยมีนามว่าเอกทันต์บรรฤาแรง
                         กายาเธอจ้ำม่ำและล่ำสัน                           ผิวโรหิตะพรรณกั่นกำแหง
                         ทรงเครื่องเรืองรามอร่ามแดง                      แสงกายจับแสงวราภรณ
                         เปนใหญ่ในปวงวิทยา                                สง่าทรงซึ่งวินัยสโมสร
                         เนืองนิตย์ประสิทธิ์ประสาทพร                     สถาวรสวัสดิ์วัฒนา
                         ชนใดหวังข้ามอุปะสรรค                             พึ่งพำนักพิฆเนศนาถา
                         สำเร็จเสร็จสมดังจินดา                               พระองค์พาข้ามพิฆนะจัญไร"

ต่อมาอาจารย์เสรี หวังในธรรมแห่งกรมศิลปากรได้นำมาจัดทำบทละครใหม่โดยความเหมือนเดิมชื่อว่า "พระวินัยบดีศรีศิลปะ"

(ข้อมูลจาก พระคเณศ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยา Ganesha: God of Arts)

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระพิฆเนศ หนึ่งในเทพผู้พิทักษ์พุทธสถาน

ภาพจาก Internet

จากความเชื่อของบรรพบุรุษไทยสมัยโบราณในยุคที่นิยมสร้างวัดวาอารามมากกว่าศูนย์การค้าหรือคอมมิวนิตี้มอลล์ ท่านนิยมอัญเชิญ (หรือวาด) รูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ที่หน้าต่าง บานประตูวัดและโบสถ์ด้วยเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นช่วยพิทักษ์รักษาพุทธสถาน ป้องกันภัยอันตรายและสิ่งอัปมงคลไม่ให้กล้ำกรายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และหนึ่งในเหล่าเทพที่บรรพบุรุษไทยอัญเชิญมารักษาศาสนาสถานแห่งสำคัญๆในกรุงเทพ๚ ก็คือพระพิฆเนศ เทพฮินดูผู้ทรงปัญญาและขจัดอุปสรรคทั้งหลายนั่นเอง ศาสนสถานในกรุงเทพ๚ ที่ปรากฏภาพจิตรกรรมพระพิฆเนศในฐานะเทพผู้พิทักษ์ ได้แก่

1. พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
ภาพจิตรกรรมของพระพิฆเนศมีปรากฏอยู่บนหน้าต่างบานที่ 14 ของพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้างมองเห็นได้ 3 พักตร์ มี 8 กร ทรงศาสตราวุทธขอช้าง, ขวาน, ค้อน, แก้วมณีสีขาว, ตรีศูล, เชือกบ่วงบาศและดอกบัวตูม ข้างใต้ภาพมีข้อความว่า "พระพิกฆเนศวร"

อีกภาพที่ปรากฏบนหน้าต่างบานที่ 19 และ 20 โดยบานที่ 19 ปรากฏเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้าง มี 8 กร ทรงขอช้าง ขวาน งาช้าง ตรีศูล เชือกบ่วงบาศ พัต ภาพระบุข้อความว่า "พระวิกฆิเนศวร" ส่วนบานที่ 20 ต่างกันตรงที่ทรงมี 2 กร ทรงตรีศูลและดอกบัวตูม มีข้อความระบุว่า "พระวิฆเนศวร"

บนหน้าต่างบานที่ 25 ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีน้ำตาล มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กรทรงขอช้าง แก้วมณี บ่วงบาศ และมีพาหนะทรงเป็นหนูขาวมุสิกะ มีข้อความระบุว่า "พระมหาวิฆเนก ทรงมุสิกะพาหนะปราบสระภังคี" สระภังคีก็คืออสุรภังคีที่กล่าวถึงในตำนานกำเนิดพระพิฆเนศนั่นเอง

บนหน้าต่างบานที่ 26 ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีน้ำตาล มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กร ทรงขอช้าง คัมภีร์ใบลาน เชือกบ่วงบาศ แก้วมณีสีขาว และมีพาหนะทรงเป็นเต่า ภาพนี้มีข้อความระบุว่า "พระมหาวิฆเนกทรง...พาหนะไปขษิรสมุทร" ในหนังสือได้กล่าวว่า ภาพพระพิฆเนศประทับบนหลังเต่านี้คล้ายกับพระคเณศในลัทธิมหายานบางรูป และคล้ายกับรูปเคารพของศาสดาองค์ที่ 23 (PARSVA YAKSA) ของศาสนาเชนด้วย

บนหน้าต่างบานที่ 43 ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้าง มี 2 กร ทรงสังข์กับเชือกบ่วงบาศ ที่ภาพมีข้อความระบุว่า "พระมหาวิฆิเนก" 

บนหน้าต่างบานที่ 44 เป็นรูปพระเทวกรรมหรือพระพิฆเนศในด้านที่เป็นบรมครูทางคชศาสตร์ ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีน้ำตาล มีเศียรเป็นช้าง มี 2 กร ทรงสังข์กับไม้เท้า ที่ภาพมีข้อความระบุว่า "พระเทวกรรม" ชื่อของพระเทวกรรมปรากฏในคัมภีร์นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวงในตอนต้นเรื่อง ในพิธีกรรมที่พระนารายณ์ปราบช้างเอกทันต์ ทรงร่ายมนตร์ เอาพระเฆอปักลงบนพื้น จากนั้นทรงนำรัศมีของพระเพลิงมาประดิษฐาน ทรงถอดสายธุรำมาอธิษฐานเป็นพระเทวกรรม ให้ประจำทางด้านซ้ายแล้วให้พระพิฆเนศประจำทางด้านขวา จากนั้นก็ทรงลงมือปราบช้างเอกทันต์ 

2. พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาสหรือวัดพระแก้ววังหน้า
ภาพจิตรกรรมของพระพิฆเนศมีปรากฏอยู่บนหน้าต่างบานที่ 7 หน้าต่างบานที่ 8 หน้าต่างบานที่ 9 และหน้าต่างบานที่ 10 ของพระอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า 

จิตรกรรมบนหน้าต่างบานที่ 7 ปรากฏเทพบุรุษมีเศียรเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว มี 2 กร ทรงบ่วงบาศและงาที่หัก ซึ่งอาจเทียบได้กับภาพ "พระเทวะกรรม์ยืน" ในตำราภาพ  หมายเลข 32 ส่วนบนหน้าต่างบานที่ 8 ปรากฏเป็นเทพบุรุษลักษณะคล้ายบานที่ 7 แต่ในพระหัตถ์ทรงถืองาหักอย่างเดียว และประทับนั่ง เทีบได้กับภาพ "พระเทวะกรรม์หนั่ง" ในตำราภาพ  หมายเลข 32

จิตรกรรมบนหน้าต่างบานที่ 9 ปรากฏเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กร ทรงศาสตราวุทธขอช้าง, ค้อน, เชือกบ่วงบาศและงาที่หัก พาหนะทรงคือเต่า มีลักษณะใกล้เคียงกับภาพ "พระมหาวิกฆิเนตรไปเกษียรสมุทร" ส่วนหน้าต่างบานที่ 10 ปรากฏเป็นลักษณะรูปกายเหมือนบานที่ 9 แต่ทรงศาสตราวุทธ ก้อนเหล็กแดง, งาที่หัก, บ่วงบาศมัดอสูรหน้าเป็นช้าง หางเป็นปลาอยู่เบื้องล่าง
พาหนะทรงคือหนูขาวมุสิกะ ซึ่งตรงกับภาพ "พระมหาวิกฆิเนตรปราบอสูรภังฆี" ในตำราภาพ  หมายเลข 70 และจรงกับภาพจิตรกรรม "พระมหาวิฆเนก ทรงมุสิกะพาหนะปราบสระภังคี" หลังบานหน้าต่างที่ 25 ของพระอุโบสถวัดสุทัศน์ 

(ส่วนภาพถ่ายของสถานที่และจิตรกรรมจะทยอยอัพเดตในครั้งถัดไป)
(ข้อมูลจาก "เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธสถาน")

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โขนตอนพระคเณศเสียงาและนาฏศิลป์อื่นๆที่เกี่ยวกับพระพิฆเนศ

ชมโขนตอนพระคเณศเสียงาได้ที่นี่
ฟังเสียงร้องโขนตอนพระพิฆเนศเสียงา
การแสดงพระคเณศร์เสียงา ในรายการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 7 รอบปีฉลูนักษัตร











พราหมณ์ปรศุราม มีฤทธิ์เดชมาก เป็นหัวหน้าแห่งพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นผู้ที่องค์มหาศิวะเทพพอพระทัยเป็นอย่า­งมาก และทรงมอบขวานเพชร ให้เป็นอาวุธ และให้สิทธิเข้าเฝ้าพระองค์ได้ทุกเมื่อที่­ต้องการ ครั้นหนึ่ง ก่อนที่องค์พระศิวะมหาเทพ จะเข้าบำเพ็ญสมาธิญาณ ได้สั่งให้องค์พระพิฆเนศ เฝ้าประตูทางเข้าไว้ ห้ามมิให้ใครผู้ใด ก็แล้วแต่เข้าไปรบกวน ขณะทำสมาธิได้ องค์พระพิฆเนศก็รับพระบัญชาแห่งองค์มหาศิว­ะเทพ ทำการเฝ้าทางเข้านั้นไว้ซึ่งประจวบกับเป็น­วันที่พราหมณ์ปรศุราม ต้องการที่จะเข้าเฝ้าองค์มหาศิวะเทพ จึงเร่งเดินทางไปยังเขาไกรลาศ อันเป็นที่ประทับแห่งองค์มหาศิวะเทพครั้นเ­ดินทางไปถึงนั้น ก็ได้พบกับองค์พระพิฆเนศ นั่งเฝ้าทางขึ้นไว้อยู่ พราหมณ์ปรศุราม ก็ไม่ได้สนใจแต่อย่างใด ได้แต่ดั้นด้นที่จะเข้าเฝ้าองค์พระศิวะให้­ได้แต่อย่างเดียว เมื่อพระพิฆเนศเห็นดังนั้น จึงเข้าไปห้ามปราม ปรศุราม ว่า ขณะนี้องค์มหาศิวะเทพ นั้นกำลังบำเพ็ญสมาธิญาณอยู่ สั่งไม่ให้ใครผู้ใดขึ้นไปรบกวนพระองค์ ปรศุรามก็หาได้ฟังคำเตือนขององค์พระพิฆเนศ­แต่อย่างใด


ชมรำพระคเณศประทานพรได้ที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความสำคัญของพระพิฆเนศในนาฏศิลป์ไทย ตอนที่ 1

พระพิฆเนศได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นเทพที่ประทานความสำเร็จและขจัดอุปสรรคให้แก่ผู้สักการะ และได้รับการยกย่องให้เป็นเทพผู้แตกฉานในหลายๆศาสตร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนาฏศาสตร์

ดังที่ปรากฏในหนึ่งจากสามสิบสองปางของพระพิฆเนศคือปางนาฏศิลป์ เจ้าแห่งลีลาการร่ายรำและศิลปะการแสดง เป็นปางที่พระวรกายเป็นสีเหลืองทอง มีสี่กร เป็นนักเต้นร่ายรำและสร้างความสุขให้ชาวโลก ในพระหัตถ์ทรงกระบอง บ่วงบาศ ขวานและงาหัก ประทับยืนเข่าขวาเหยียบบนดอกบัว พระพิฆเนศทรงเป็นเทพที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในศาสตร์แขนงนี้ นับตั้งแต่การบูชาไหว้บรมครูทางนาฏศิลป์ การบวงสรวงก่อนเริ่มการแสดงหรือประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการแสดง รวมถึงความเชื่อที่ว่าทำไมโจงกระเบนที่นักเรียนนาฏศิลป์นุ่งจึงมีสีแดง



ในการไหว้ครูนาฏศิลป์หรือพิธีไหว้ครู เป็นพิธีที่ลูกศิษย์จะแสดงความเคารพ ความจริงใจและความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์และเชื่อว่าผู้ที่ไหว้ครูด้วยความจริงใจจะเป็นผู้มีปัญญา ไม่ตกต่ำและทำให้ความรู้และสรรพวิทยาการทั้งหลายเจริญก้าวหน้า พิธีไหว้ครูจะประกอบกันในวันพฤหัสบดีเท่านั้นเพราะเชื่อว่าพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤาษีและเป็นบรมครูของเหล่าทวยเทพ ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าวันพฤหับดีเป็นวันครู ในการทำพิธีจะมีการตั้งวางโขนศีรษะของเทพเจ้าและศีรษะโขน โดยโขนศีรษะของพระพิฆเนศจะมีสีแดง
และวางไว้ตรงกลางโต๊ะหมู่ หัวโขนพระพิฆเนศ แทนสัญลักษณ์องค์พระพิฆเนศ ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ สติปัญญาศิลปศาสตร์ เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล เป็นเทพผู้อยู่เหนือการรจนาหนังสือ  คนไทยนับถือพระคเณศในฐานะเทพผู้ขจัดอุปสรรค เทพผู้คุ้มครองเด็ก เทพบริวารของเทพชั้นสูงสุด ๓ พระองค์ (ตรีมูรติ) พระเทวกรรมในฐานะบรมครูช้างเทพผู้เป็นนายทวารบาล นอกจากปราฏกของพระพิฆเนศในพิธีไหว้ครูแล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับพระ


พิฆเนศยังปรากฏเป็นสัญลักษณ์ในเครื่องแต่งกายของนักเรียนนาฏศิลป์ด้วย บางท่านเชื่อกันว่าสีแดงของโจงกระเบนที่นักเรียนนาฏศิลป์นุ่งมาจากสีของโขนเศียรพระพิฆเนศ เพื่อให้ท่านอำนวยพรให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการฝึกฝน



ความสำคัญของพระพิฆเนศในนาฏศิลป์ไทย ตอนที่ 2

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คเณศานี (Ganeshani) พระพิฆเนศในภาคที่เป็นสตรี

ภาพจาก http://www.saisathyasai.com
คเณศานี (Ganeshani) หรือไวนายกี (Vainayaki) เชื่อกันว่าเป็นภาคหนึ่งของพระพิฆเนศที่มีรูปกายเป็นสตรี สังเกตุได้จากรูปสักการะที่มีเศียรเป็นช้างแบบพระคเณศแต่มีหน้าอกใหญ่แบบเพศหญิง เป็นลักษณะรูปสักการะของเทพีหรือโยคินีในลัทธิตันตระ รูปสักการะพระพิฆเนศวรภาคที่เป็นสตรีนี้พบมากทางใต้ของประเทศอินเดียที่ เมืองทมิฬนาดูและแถบประเทศทิเบต ในคัมภีร์ปุราณะบางเล่มได้กล่าวถึงพระนามของโยคินีต่างๆที่อาจหมายถึงภาคสตรีของพระพิฆเนศด้วย เช่น คัมภีร์มัสตยปุราณะกล่าวถึงชื่อไวนายกี (Vainayaki) ส่วนคัมภีร์เทวีสหัสนามกล่าวถึงชื่อวินายิกี (Vinayiki), ลัมโพทรี (Lamfodari) และคเณศวรี (Ganesvari) ที่สื่อถึงพระพิฆเนศด้วย ผู้บูชามักบูชาขอประทานบุตรจากเทวีคเณศานี นอกจากนั้นเทวีคเณศานียังเปรียบเสมือนเทวีผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวง 

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หลักธรรมที่แฝงอยู่ในตำนานต่างๆของพระพิฆเนศ


  1. การให้ความเคารพต่อบิดามารดา หลักธรรมนี้ปรากฏในตำนานเรื่องการอภิเษกของพระพิฆเนศ
  2. การมีสัมมาทิฐิ สนับสนุนในสิ่งอันควร หลักธรรมนี้ปรากฏในตำนานเรื่องการสั่งสอนท้าวกุเวร
  3. การใช้ความดีเอาชนะความชั่ว หลักธรรมนี้ปรากฏในมหากาพย์รามเกียรติ์ซึ่งพระรามเป็นตัวแทนของความดีทั้งปวงและยักษ์ทศกัณฑ์เป็นตัวแทนของความชั่วทั้งปวง และตำนานกำเนิดต่างๆของพระพิฆเนศที่ปราบอสูรอันเปรียบเสมือนความชั่วร้ายในโลก
  4. ความซื่อสัตย์ต่อคู่ครองของตน หลักธรรมนี้ปรากฏในมหากาพย์รามเกียรติ์โดยมีนางสีดาเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์นั้น
  5. เรื่องของความกตัญญูและผู้มีคุณธรรมย่อมถือสัจจะ หลักธรรมนี้ปรากฏในมหากาพย์รามเกียรติ์ในตอนที่พระรามยอมถูกเนรเทศให้ไปอยู่ป่าเป็นเวลา 14 ปีโดยไม่มีความผิด เพียงแต่ต้องการรักษาสัญญาของพระบิดาเท่านั้น
  6. ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ หลักธรรมนี้ปรากฏในตำนานกำเนิดพระพิฆเนศในคัมภีร์ศิวะปุราณะและคัมภีร์มัสตยปุราณะที่พระพิฆเนศทำหน้าที่เป็นทวารบาลให้พระแม่อุมาขณะสรงน้ำ จนต้องทำสงครามกับพระศิวะและเหล่าเทพบริวาร
  7. หลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องการประหารความโลภ ในตำนานกำเนิดอวตารคชนัน
  8. หลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องการประหารความใคร่ ในตำนานกำเนิดอวตารวิกฏะ
  9. หลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องการประหารความโอหัง ในตำนานกำเนิดอวตารธูรมวรรณ

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตำนานที่เกี่ยวกับพระปัญญาของพระพิฆเนศ

  • ตำนานเรื่องการอภิเษกของพระพิฆเนศ
เมื่อถึงเวลาอันสมควร พระศิวะจะจัดพิธีวิวาห์ให้ต่อเมื่อพระโอรสองค์ใดองค์หนึ่งระหว่างพระพิฆเนศและขันธกุมาร สามารถเดินทางรอบโลกได้ 7 รอบด้วยเวลาอันรวดเร็ว ฝ่ายขันธกุมารขี่ยูงรำแพนเดินทางไปรอบโลก ฝ่ายพระพิฆเนศกลับเดินประทักษิณรอบพระศิวะและพระนางอุมาเทวี 7 รอบพร้อมให้เหตุผลว่า "ผู้ใดกราบไหว้บูชาบิดา มารดาย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เจริญ การที่เดินรอบบิดา มารดา 7 ครั้งย่อมได้กุศลเทียบเท่าการเดินทงรอบโลกถึง 7 รอบเช่นกัน" พระศิวะชอบใจคำอธิบายของพระพิฆเนศมาก จึงจัดให้พระพิฆเนศวิวาห์กับนางสิทธิ (ความสำเร็จ) และพุทธิ (ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา) ในตอนนั้น
  • ตำนานการจารึกมหากาพย์รามเกียรติ์และมหาภารตะ
ฤษีวาสยะได้ขอพระพรหมให้ทรงบอกถึงคัมภีร์ในนิกายมากมาย แต่พระพรหมทรงให้ไปถามและเรียนรู้จากพระพิฆเนศ พระพิฆเนศจึงได้ร่วมบันทึกเรื่องราวมหากาพย์ทั้งสองขึ้นมาและเล่าขานกันจนถึงปัจจุบัน ตำนานนี้แสดงถึงความเป็นเอกด้านปรัชญาและวรรณกรรมของพระพิฆเนศ
  • ตำนานเรื่องการสั่งสอนท้าวกุเวร
ท้าวกุเวรเป็นเทพที่มักจะประทานพรให้ผู้บูชามีทรัพย์มาก ในทางที่เหมือนสนับสนุนให้คนมีความโลภซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางสู่การบรรลุธรรม พระพิฆเนศจึงสอนท้าวกุเวรด้วยการเสวยทุกอย่างที่ท้าวกุเวรทำมาถวายแม้กระทั่งกรุงลงกาจนท้าวกุเวรกริ้วและไปทูลฟ้องพระศิวะ พระศิวะทรงเข้าใจเจตนาพระคเณศและประทานขนมรันดูให้พระคเณศเพียงชิ้นเดียว พระคเณศก็คายทุกสิ่งที่ท้าวกุเวรถวายออกมาจยหมดสิ้น พระพิฆเนศทรงสอนว่า "หากท้าวกุเวรให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ขอด้วยความโลภก็จะเป็นเช่นนี้ ต่างจากการให้ด้วยรักและเมตตา ที่ให้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด"

ในประเทศไทยมีการยกย่องให้พระพิฆเนศให้พระพิฆเนศเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการและเทพผู้ขจัดซึ่งอุปสรรคทั้งปวง และเป็นปฐมปูชนียเทพด้วย แต่ในอินเดียจะยกย่องพระสรัสวตีให้เป็นเทพีแห่งอักษรศาสตร์และวิทยาการทุกสาขา

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านภารตศาสตร์และความรู้เกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดู ทรงสอดแทรกความรู้เหล่านี้ในวรรณคดีนิพนธ์หลายๆเรื่องและทรงยกย่องพระพิฆเนศเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการและเทพผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวง เช่น ในบทละครเรื่องสามัคคีเสวก ตอนกรีนิรมิตร (พระคเณศเสียงา) และลิลิตนารายณ์สิบปาง และทรงโปรดเกล้า๚ ให้ใช้รูปพระพิฆเนศเป็นดวงตราของวรรณคดีสโมสร และใช้สืบต่อมาจนกลายเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมศิลปากรจนถึงปัจจุบัน ในตราสัญลักษณ์จะมีลูกแก้ว 7 ลูกล้อมรอบพระพิฆเนศซึ่งลูกแก้วเป็นสัญลักษณ์แทนศาสตร์ต่างๆ ได้แก่ ช่างปั้น, จิตรกรรม, ดุริยางคศิลป์, นาฏศิลป์, วาทศิลป์, สถาปัตยกรรมและอักษรศาสตร์

นอกจากศาสตร์ทั้ง 7 ที่ปรากฏในตราประจำกรมศิลปากรแล้ว พระพิฆเนศยังได้รับการยกย่องในฐานะบรมครูช้าง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวิชาคชศาสตร์ ดังนั้นกิจกรรมใดที่เกี่ยวกับศาตร์นี้ จึงมักเริ่มต้นด้วยการบูชาพระพิฆเนศก่อนเสมอ

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เทศกาลคเณศ-จตุรถีหรือโชตี

เทศกาลพิเศษ




วันแรม 4 ค่ำเดือน 10 (ตามจันทรคติคือเดือนสิงหาคมและกันยายน) ถือเป็นวันประสูติของพระพิฆเนศและเป็นเทศกาลคเณศ-จตุรถีหรือโชตี มักจะมีการนำรูปสักการะของพระพิฆเนศมาบูชา และมีการตระเตรียมงานก่อน 21 วันโดยจะต้องใช้ใบไม้และดอกไม้ต่างๆ 21 ชนิด และบูชาเรียงลำดับไปตลอด 21 วัน ด้วยเหตุของการบูชาด้วยใบไม้นี้เองพิธีการบูชาพระพิฆเนศในเทศกาลนี้จึงเรียกอีกชื่อว่า เอกวีสติ ปัตรบูชา ที่แปลว่าการบูชาด้วยใบไม้ 21 ชนิด

สำหรับการบูชาในเทศกาลคเณศ-จตุรถีนี้ ผู้บูชาจะนำรูปปั้นสักการะของพระคเณศประดิษฐานไว้หน้าบ้านหรือกลางบ้านชโลมด้วยมูลวัวแล้วโปรยทรายอ่อนให้ทั่วองค์ ปิดทับด้วยใบไม้ โรยเมล็ดข้าวอีกชั้นแล้วห่มผ้าผูกด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นถวายดอกไม้ ขนมต้ม มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย และท่องพระนามทั้ง 108 ของพระองค์และบูชาด้วยใบไม้ ดอกไม้ไปตลอดทั้ง 21 วัน

ใบไม้และดอกไม้ที่นำมาบูชาพระพิฆเนศมีดังต่อไปนี้

ใบมาจี (Machi or Macikkai) หรือใบมาจีบัตร มีชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Imprerata Cylindrica ตรงกับต้นหญ้าคาของไทยพร้อมกับคำบูชาว่า"สุขุมาย นมะ มาจีปตรํ ปูชยามิ " ภาพแรกอ้างอิงมาจาก HinduPad ซึ่งหน้าตาจะแตกต่างจากการตีความของไทย

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.500059130005943.123937.139371209408072&type=3


ใบพฤหตี (Brihati or chitti mulaga) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Carissa Carandas ตรงกับชื่อภาษาไทยว่า หนามแดง มะนาวไม่รู้โห่ หนามขี้แฮด หนามพรหม มีคำกล่าวบูชาว่า "คณาธิปาย นมะ พฤหตีปตรํ ปูชยามิ" 


ใบพิลว (Bilva or Maredu) คือใบมะตูม มีคํากล่าวบูชาว่า "อุมาปุตราย นมะ พิลวตรํ ปูชยามิ "


ใบทูรวา (Durva Grass) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Cynodon Daetylon คือหญ้าแพรก คำกล่าวบูชาว่า "คชานนาย นมะ ทูรวายุคมํ ปูชยามิ"



ใบทุตูระ (Datura) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Stramonium คือต้นลำโพง หรือ ชุมเห็ดเทศ ใช้แก้พิษแมลงกัดต่อยได้ดี คำกล่าวบูชาว่า "หรสูนเว นมะ ทุตตูรปตรํ ปูชยามิ "


ใบพทรี (Badari) คือใบพุทรา มีคำกล่าวบูชาว่า "ลบโพทราย นมะ พทรีปตรํ ปูชยามิ"


ใบอปามารค (Apa Marga) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Achyrantus Aspera คือต้นพันธุ์งู ใช้รักษาพิษจากสัตว์กัดต่อย โดยใช้ใบมาคั้นน้ำ มีคำกล่าวบูชาว่า "คุหาครูชาย นมะ อปามารคปตรํ ปูชยามิ"


ใบตุลสี (Tulsi) คือใบกะเพรา มีคำกล่าวบูชาว่า "คชกรณาย นมะ ตุลสีปตรํ ปูชยามิ" แต่ก็มีบางตำราที่ว่าไม่ควรนำใบกะเพรามาบูชาเนื่องจากมีตำนานหนึ่งเล่าว่าขณะที่พระคเณศกำลังเดินทางอยู่บริเวณแม่น้ำคงคา มีเจ้าหญิงพระนามว่าธรรมวาจา (Dharmadwaja) เกิดทอดพระเนตรเห็นและหลงรักพระคเณศเข้า แต่พระคเณศปฏิเสธ นางจึงสาบพระพิฆเนศให้ไร้คู่ พระพิฆเนศจึงสาบนางกลับให้นางเป็นปีศาจชั่วกัปชั่วกัลย์ เมื่อได้ยินคำสาปของพระคเณศนางเกิดหวาดกลัวและร้องขอพระคเณศให้ถอนคำสาป พระคเณศจึงแก้คำสาปให้เบาลง ให้นางเป็นปีศาจเพียงชั่วเวลานึงเท่านั้นแล้วให้นางไปเกิดใหม่เป็นใบตุลสี นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมพระคเณศจึงไม่ชอบใบไม้ชนิดนี้


ใบจูตะ (Choota or Mango leaves) หรือใบมะม่วง มีคำกล่าวบูชาว่า "เอกทนตาย นมะ จูตปตรํ ปูชยามิ"


ใบกรวีระ (Karaveera) ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Thevetia Nerifolium คือต้นรำเพย หรือ ยี่โถฝรั่ง มีคำกล่าวบูชาว่า "วิกฏาย นมะ กรวีรปตรํ ปูชยามิ"


ใบวิษณุกรานตะ (Vishnu Kranta) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Evolvulus Alisnoides มีคำกล่าวบูชาว่า "ภินนทนตาย นมะ วิษณุกรานตปตรํ ปูชยามิ "


ใบทาฑิมิ (Daadimi or Pomegranate) คือใบทับทิม มีคำกล่าวบูชาว่า "วฏเว นมะ ทาฑิมีปตรํ ปูชยามิ"


ใบเทวมารุ (Devadaru) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Cedrus Deodora ใบเล็กกลมมีกลิ่นหอมป้องกันยุงและแมลงได้ดี มีคำกล่าวบูชาว่า "สรเวศวราย นมะ เทวทารุปตรํ ปูชยามิ"


ใบมรุวกะ (Maruvaka) หรือ มทนา ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Origanum Vulgra กล่าวคำบูชาว่า "ผาล จนทราย นมะ มรุวกปตรํ ปูชยามิ"


ใบสินธุวาร (Sidhuvara) คือใบคนทีเขมา มีคำกล่าวบูชาว่า "เหรมทาย นมะ สินธุวารปตรํ ปูชยามิ"


ใบชาชี (Jaaji) คือใบจันทร์เทศ มีคำกล่าวบูชาว่า "ศุรุกรุณาย นมะ ชาชีปตรํ ปูชยามิ"


ใบคัณฑาลิ (Gandaki or Gandalee) มีดอกสีขาว มีคำกล่าวบูชาว่า "สุราครชาย นมะ คณฑาลิปตรํ ปูชยามิ" เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง พบมากทางใต้ของอินเดีย เติบโตได้ดีในที่แล้งจัด


ใบสมี (Shamee) มีคำกล่าวบูชาว่า "อภิวกตราย นมะ สมีปตรํ ปูชยามิ" เป็นพืชที่มีหนามแหลมและมักใช้เป็นสิ่งทดแทนการบูชาด้วยดอกไม้ในยามที่ดอกไม้ขาดแคลน


ใบอัศวัตถา หรือ อัสสัตถ คือไม้โพธิ์  มีคำกล่าวบูชาว่า "วินายกาย นมะ อศวตปตรํ ปูชยามิ"



ใบอรชุน ตรงกับไม้ไทยว่า ต้นสลักหลวง ต้นสลักป่า ต้นยอป่า มีคำกล่าวบูชาว่า "สุรเสวิตาย นมะ อรชุนปตรํ ปูชยามิ"


ใบอรก คือต้นรักของไทยเรา มีคำกล่าวบูชาว่า "กปิลาย นมะ อรปปตรํ ปูชยามิ"


เมื่อครบ 21 วันแล้วก็ทำพิธีแห่รูปสักการะนั้นไปยังสระน้ำหรือแม่น้ำ ถ่วงไว้ในน้ำ อันหมายถึงเป็นการส่งเสด็จท่านไปยังไกรลาสและเชื่อว่าผ้บูชาจะได้รับพรแห่งความสำเร็จทุกอย่าง

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พาหนะของพระพิฆเนศ


  1. หนู เป็นพาหนะของพระพิฆเนสที่มีตำนานกล่าวถึงมากที่สุด และปรากฏในหลายปาง นัยเกี่ยวกับหนูในฐานะพาหนะของพระพิฆเนศคือความมืด อุปสรรค และความสมดุลแห่งจักรวาล 
    • โดยนัยยะแรกหนูเป็นสัตวืที่กัดแทะ และสามารถทำลายอุปสรรคได้ เมื่อพระพิฆเนศประทับบนหนูเป็นสัญลักษณ์ของการข้ามพ้นอุปสรรค
    • นัยยะที่สองหนูเปรียบเหมือนความมืดและกิเลส พระคเณศเปรียบเสมิอนแสงสว่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันของจักรวาล
    • นัยยะที่สามหนูมีขนาดเล็ก แต่พระพิฆเนศมีขนาดใหญ่โต จึงเปรียบเสมือนความสมดุลแห่งจักรวาลที่ต้องมีสิ่งคู่กันเสมอ
  2. สิงห์ พบในปางเหรัมภะและปางสิงหะ ในปางเหรัมภะพระคเณศปางนี้มีห้าเศียร ประทับบนหลังสิงห์ เป็นสัญลักษณ์ที่บรรดากษัตริย์ในสมัยโบราณนิยมบูชากัน บางครั้งจะทรงประทับบนดอกบัวแดง ในปางสิงหะ พระคเณศมีวรกายสีม่วงหรือขาวเงิน ประทับบนหลังราชสีห์ เป็นปางแห่งการมีกิจกรรมใหญ่และปกครองบริวาร มีทรัพย์มาก มี 8 พระกร นอกจากนี้ยังปรากฏในตำนานของพระวักระตุณฑะเพื่อทำลายปีศาจมัตสระ
  3. นกยูง พบในปางวิกฏะเพื่อทำลายอสูรกามา (อสูรแห่งตัณหา)
  4. เศษนาค พบในปางพระวิฆนราชเพื่อปราบมันตาสุระ
  5. ม้า 
  6. หงส์
  7. ตัววิจารี

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สิ่งที่อยู่ในพระหัตถ์ของพระพิฆเนศ



ภาพจาก www.konrakmeed.com
อังกุศะ (ขอช้าง) หมายถึงการควบคุมและการทำลายสิ่งชั่วร้าย หรือการกระตุ้นมนุษย์ไปสู่ทางธรรมและความจริง
ภาพจาก http://community.fortunecity.ws
ปาศะ (เชือกบาศ) หมายถึงเครื่องร้อยรัดกิเลสตัณหาต่างๆ หรือเครื่องร้อยรัดวิญญาณของมนุษย์กับเทพเจ้า เปรียบเหมือนกับดักกิเลสและสิ่งชั่วร้าย
ทันตะ (งาข้างที่หัก) หมายถึง การเสียสละ และเป็นสัญลักษณ์ของความรู้และผู้คงแก่เรียน และไว้เขียนวรรณกรรม
ภาพจาก http://www.hindumeeting.com
ขนมโมทกะ หมายถึง การกินดีอยู่ดี ความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนการตระหนักรู้ภายในตน พระอุมาประทานให้เพื่อเป็นรางวัลแก่ผู้มีความสุขและความสมบูรณ์ในชีวิต

นอกจากนั้นยังทรงถือสังข์ ขวาน แส้จามรี จักร คทา กริช มาลัยรุทรักษา ศรดอกไม้ ข้าวปยาสะ คันศรอ้อย ศร วีณา อสูร ดาบ โล่ หม้อน้ำ ค้อน ตรีศูล ธง ไม้เท้า วัชรตรีศูล กระบอง หม้อน้ำอมฤต หม้อเพชรพลอย ดอกบัว ดอกบัวนิโลบล ไฟ ธนู นาคหรืองู นกแก้ว รวงข้าว หม้อน้ำผึ้ง มะพร้าว หัวไชเท้า มะม่วง กล้วย สับปะรด ขนุน ทับทิม หรือผลไม้ต่างๆรวมกัน

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รูปลักษณ์ของพระพิฆเนศ

เทวรูปที่เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า


พระวรกาย
พระพิฆเนศทรงมีร่างกายเป็ยบุรุษเพศ อวบอ้วน พระกายมีหลายสีนับแต่สีแดง ขาว น้ำตาลปนแดง ทอง น้ำเงิน เหลือง เขียว สีขมิ้น ทองแดง ชมพู ส้มและดำ

พระเศียร
มีพระเศียรเป็นช้าง ตามคัมภีร์ตันตระกล่าวว่าควรมีขนาด 1/5 ของความยาวของลำตัว ปกติเป็นเศียรเดียวแต่บางครั้งอาจมีตั้งแต่ 2-5 เศียร ปางที่มี 5 เศียรที่ชื่อว่า เหรัมพะ นี้แพร่หลายในอินเดียและเนปาล โดยพระเศียรมักมีขนาดใหญ่กว่าลำตัว อาจหมายถึงการมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ความกล้าหาญและพละกำลังอันยิ่งใหญ่เมื่อต้องเผชิญกับความชั่วร้าย ในอีกทางหนึ่งช้างนั้นแม้จะรูปร่างใหญ่โตแต่ก็กินแต่ผัก หญ้า ผลไม้แสดงถึงความอ่อนโยน

พระเนตร
ตามปกติมี 2 พระเนตร ในลัทธิตันตระนิกายบางนิกายอาจมีพระเนตรที่ 3 อยู่หว่างพระนลาฎ (หน้าผาก) เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของเทพอัคนี แสดงขึ้นความเฉลียวฉลาด

พระนลาฏ
ส่วนใหญ่มีรูปพระจันทร์เสี้ยวเป็นสัญลักษณ์ เพื่อแสดงการเป็นพระญาติวงศ์แห่งศิวะเทพ หรือมีเส้นทั้ง 3 ในลัทธิไศวะนิกาย

เครื่องประดับ
เครื่องประดับพระเศียร - รูปสักการะบางรูปก็ไม่มีเครื่องประดับพระเศียร บางองค์ก็มีมงกุฏเป็นทรงแบนเรียบ เรียกว่า กรัณฑมกุฏ และในบางครั้งก็อาจมีเกศามุ่นเป็นมวย เรียกว่า ชฎามงกุฏ

เครื่องประดับพระศอ - มีสายยัชโญปวีตซึ่งเป็นสายศักดิ์สิทธิ์ที่นิยมเอางูมาประดับ นอกจากนั้นก็มีสร้อยคอประดับซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นที่สร้างเทวรูป

พระกรรณ
มีขนาดใหญ่อย่างหูช้าง อาจหมายถึงทรงสามารถในการกลั่นกรองความชั่วร้ายและเลือกรับเอาแต่สิ่งดีงาม ในปางศูรปกรรณ พระพิฆเนศใช้ใบหูโบกพัดชุบชีวิตพระอัคนีให้ฟื้นคืน

งา
โดยมากรูปเคารพของพระพิฆเนศจะมีงาสมบูรณ์เพียงข้างเดียว ที่เรียกกันว่า เอกทันตะ โดยในพระหัตถ์จะทรงถืองาที่หักไว้ งาที่หักนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่มาจากการปราบเหล่าอสูรเพื่อช่วยเหลือเหล่าเทวดา และมนุษย์

งวง
พระพิฆเนศมักมีงวงห้อยลงมาตรงๆ ส่วนปลายมักจะม้วนหันไปทางซ้าย อยู่ในท่าหยิบขนมโมทกะ งวงนี้สื่อถึงความฉลาด ความเข้มแข็ง ทรงพลังและยังเป็นสัญลักษณ์ของการช่างสังเกตุ วิเคราะห์ แยกแยะเรื่องราวต่างๆ

พระอุทร
มีลักษณะใหญ่พลุ้ย คาดด้วยเชือก แต่บางครั้งก็เป็นงู อันสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์

พระกร
มีจำนวนตั้งแต่ 2-10 พระกรหรืออาจจะมากกว่านั้น ในพระหัตถ์มีผลไม้, พืชผัก และอาวุธที่ถือตามพระกรต่างๆคือ งาหัก, ผลไม้ป่า, มะขวิด, ลูกหว้า, หัวผักกาด, ขนมโมทกะ, ผลทับทิม, ผลมะนาว, เนื้อหวาน, หนังสือ และศาสตรวุธต่างๆ

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พระนามต่างๆของพระพิฆเนศ

พระพิฆเนศเป็นเทพที่มีหลายพระนาม บางตำราว่ามีมากถึง 1,000 พระนาม ที่ได้ยินกันเป็นที่แพร่หลายมีดังต่อไปนี้
  1. คเณศ แปลว่า ผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่คณะ (คณะในที่นี้หมายถึงบริวารของพระศิวะ)
  2. คเณศวร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่หรือหัวหน้าเหนือเหล่าบริวารพระศิวะ
  3. คณปติ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือหมู่คณะ หรือหัวหน้าเหนือเหล่าบริวารพระศิวะ
  4. เอกทันต์ หรือเอกทันตะ แปลว่า ผู้มีงาเดียวรือผู้เป็นใหญ่เหนือเหล่าบริวารของพระศิวะ เป็นอวคารหนึ่งของพระพิฆเนศที่มาปราบอสูรมะทะด้วยลูกศรชื่อปรสุ (รายละเอียดอ่านได้จาก "คเณศปกรณ์")
  5. พิฆเนศ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งอุปสรรค
  6. พิฆเนศวร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งอุปสรรค
  7. พิลไลยาร์ แปลว่า โอรสแห่งเทพชนกและชนนีผู้เป็นเจ้าจักรวาล ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันดีในแคว้นทมิฬนาฑู
  8. เหรัมพะ แปลว่า ผู้ปกครองผู้มีความทุกข์
  9. วิฆนายกะ แปลว่า ผู้ขจัดอุปสรรคต่างๆ
  10. ลัมโพทร แปลว่า ผู้มีท้องใหญ่, ผู้มีท้องพลุ้ย เป็นชื่ออวตารหนึ่งของพระพิฆเนศเพื่อปราบโกรธาสูร โกรธาสูรกำเนิดมาจากความโกรธและความอับอายของพระศิวะ ตอนที่พระวิษณุแปลงกายเป็นเด็กสาววัย 16 ปีมีรูปกายงดงามยิ่งนัก พระศิวะเห็นเข้าจึงพอพระทัยเมื่อพระวิษณุรู้สึกพระองค์เข้าจึงกลับคืนร่างเดิมเสีย ทำให้พระศิวะทั้งโกรธ และอับอายเป็นอย่างมาก โกรธาสูรได้รับพรจากพระสุริยะให้สามารถพิชิตไตรโลกทั้งหมดรวมทั้งไกรลาสด้วย เหล่าเทวดาจึงบูชาพระคเณศในพระนามลัมโพทรจนทรงปรากฏพระองค์ขึ้นและรับปากจะปราบโกรธาสูรให้ โกรฑาสูรเข้าต่อกรกับลัมโพทรถึงแม้จะประหวั่นถึงพลังอำนาจของลัมโพทรอยู่ แต่ในที่สุดโกรธาสูรต้องยอมสวามิภักดิ์ให้ลัมโพทร จากตำนานนี้การมีท้องใหญ่ พุงพลุ้ยไม่ได้หมายความว่าอ้วนท้วนเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทันอันใหญ่โตของลัมโพทรคือการรวมกันของโลกทุกโลก โลกทุกโลกเกิดจากพระองค์ เมื่อกาลสิ้นสุดแล้วก็กลับเข้าไปและทรงเป็นผู้ปกครองและดูแลทุกโลก
  11. ศูรปกรรณ แปลว่า มีหูเหมือนกระจาด หมายถึงมีหูรับฟัง เรียนรู้ มั่งคั่ง และเก็บสรรพวิชาได้มหาศาล เก็บคัมภีร์พระเวทได้หลายบทโดยพระธุสวดีเป็นผู้ถ่ายทอดให้
  12. ธูรมวรรณ แปลว่า สีเทา สีหมอกควัน เป็นอวตารหนึ่งที่มาปราบอหัมสูร อสูรที่เกิดจากความรู้สึกโอหังของพระสุริยเทพและทรงเผลอจามออกมา ธูรมวรรณทรงปราบอหัมสูรด้วยปาศะ - เชือกบาศก์ แล้วสั่งให้ไปอยู่บาดาล
  13. คชวักตะ หรือ คชพักตร์ แปลว่า หน้าเป็นช้าง
  14. คุหาครชะ แปลว่า พี่ชายของพระขรรถกุมาร
  15. คชนัน แปลว่า ผู้มีหน้าเป็นช้าง มาจากตำนานการปราบโลภาสูร เป็นอสูรที่เกิดจากตอนที่ท้าวกุเวรมองเครื่องพัสตราภรณ์อันเลอค่าของพระแม่อุมาด้วยความโลภ มีฤทธิ์เดชมากและเคยได้รับประทานพรจากพระศิวะ ฤทธิ์มากที่แม้แต่พระวิษณุยังสู้ไม่ได้ โลภาสูรพิชิตสามโลกและถึงขนาดขอเขาไกรลาสจากพระศิวะ ซึ่งพระศิวะก็ทรงยกให้แต่โดยดีเพราะไม่อยากเสียคำพูดของตน เหล่าเทวดาอดรนทนไม่ได้จึงไปหาพระวิษณุ พระวิษณุจึงบอกให้เหล่าเทวดาไปบูชาพระคเณศซึ่งปรากฏพระองค์ในรูปคชนันบนหลังหนูและรับคำว่าจะปราบโลภาสูร พระศิวะได้รับสั่งเตือนโลภาสูรให้บูชาพระคเณศดีกว่าที่จะต่อสู้ ทีแรกโลภาสูรไม่เชื่อจึงไปปรึกษาพระศุกร์ พระศุกร์ก็ทรงยืนยันอย่างเดียวกันว่าคชนันมีมหิทธานุภาพมาก ให้บูชาจะดีกว่า ดังนั้นโลภาสูรจึงสวามิภักดิ์ต่อคชนัน คชนันสั่งให้โลภาสูรคืนโลกต่างๆที่ยึดมา ให้โลภาสูรไปอาศัยอยู่บาดาลและความสงบก็กลับคืนมานับแต่นั้น
  16. มุสิกวาหนะ แปลว่า ผู้มีหนูเป็นพาหนะ
  17. ลัฑฑูปรียา แปลว่า ผู้ชื่นชอบขนมลัฑฑู มาจากคัมภีร์สกันทปุราณะกล่าวว่าพระคเณศจะทรงบอกได้เสมอว่าพระศิวะประทับอยู่ที่ใด จึงทรงได้รับการถวายขนมลัฑฑู(ขนมโมทกะ) และทรงชื่นชอบอย่างมาก
  18. วรปาท แปลว่า ผู้ประทานพร เป็นผู้ประทานความรู้ ความอุดมสมบูรณ์
  19. วิฆนราชา แปลว่า ผู้เป็นเจ้าแห่งอุปสรรค และนำพาเหล่าผู้บูชาข้ามพ้นอุปสรรคต่างๆ เป็นชื่ออวตารที่ทรงปราบมหาสูรหรือมมตาสูร อันเกิดมาจากเสียงสรวลอันดังของพระแม่อุมา อสูรตนนี้ได้ขอพรจากพระพิฆเนศสามข้อ คือ ขอให้ครองจักรวาลได้ ขอให้เป็นอมตะและขอศาสตรวุธที่อาวุธอื่นไม่สามารถทำลายได้ พระพิฆเนศได้ประทานพรทุกข้อตามที่มมตาอสูรขอ ต่อมามมตาสูรก่อทุกข์เข็ญไปทั่ว เหล่าเทวดาจึงภาวนาอัญเชิญพระพิฆเนศในรูปพระวิฆนราชมาปราบ ทรงปราบมมตาสูรด้วยดอกบัวเพียงดอกเดียวเท่านั้น
  20. วีรคณปติ แปลว่า นักรบผู้เป็นใหญ่แห่งคณะ มาจากภาคที่มีวรรณะแดง มี 18 กร ทรงถือศาสตราวุทธต่างๆที่เป็นเครื่องหมายของนักรบ
  21. วิกฏะ ในภาษาสันสกฤตแปลว่า ยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม เป็นชื่อของอวตารหนึ่งของพระพิฆเนศเพื่อปราบกามาสูร กำเนิดของกามาสูรเกิดจากความปฏิพัทธิ์ที่พระวิษณุมีต่อพระแม่จ้าวฤนทาผู้งดงาม เรื่องราวการปราบคล้ายกับที่ปราบโกรธาสูรในอวตารลัมโพทร อวตารวิกฏะนี้ทรงนกยูงเป็นพาหนะ
  22. อุมาปุตร แปลว่า บุตรแห่งพระอุมา และเป็นบุตรผู้เป็นที่รักและดูแลรับใช้ใกล้ชิด
  23. วักระตุณฑะ แปลว่า ผู้มีหนวดโค้ง เป็นหนึ่งในอวตารของพระพิฆเนศเพื่อมาปราบอสูรชื่อมัตสระที่บำเพ็ญเพียรบูชาพระศิวะอยู่พันปีจนได้รับประทานพรและได้รับแต่งตั้งจากพระศุกร์ให้ไปพิชิตโลกต่างๆและจักรวาล (รายละเอียดอ่านได้จาก "คเณศปกรณ์")
  24. ปุราณะนันท์มโหทระ หรือมโหทร แปลว่า ท้องโต ซึ่งเป็นอวตารหนึ่งของพระคเณศตอนไปปราบอสูรยานาริ (รายละเอียดอ่านได้จาก "คเณศปกรณ์")

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตำนานกำเนิดพระพิฆเนศ

เนื้อหากำเนิดพระพิฆเนศจากหนังสือ "แกะรอยพระคเณศ"
  • คัมภีร์ศิวปุราณะ กล่าวว่า พระพิฆเนศเกิดจากเหงื่อไคลของพระนางปารวตีที่พระนางปั้นขณะสรงน้ำ ซึ่งมาจากการแนะนำของนางวิชยาซึ่งเป็นสหายของพระนางปารวตีว่าทรงควรมีบริวารเป็นของตนเอง และได้รับพระนามว่าคเณศ รับหน้าที่เฝ้าประตูวิมานไม่ให้ผู้ใด้เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ครั้งหนึ่งพระศิวะเสด็จมาแต่พระคเณศไม่ให้เข้า พระศิวะพิโรธจึงเกิดการต่อสู้กันระหว่างพระคเณศและเหล่าเทพของพระศิวะ เหล่าเทพสู้พระคเณศไม่ได้จึงต้องให้พระวิษณุมาช่วย พระวิษณุตัดเศียรพระคเณศได้แต่ทำให้พระนางปารวตีพิโรธมากจนเกิดสงครามใหญ่โต จนพระฤษีนารทต้องเสด็จมาขอให้ยุติสงคราม พระนางปารวตีจึงขอให้มีการชุบชีวิตพระคเณศ พระศิวะจึงบัญชาให้เหล่าเทพไปทางทิศเหนือและนำศีรษะของสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่พบไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามให้นำกลับมา เทพบริวารพบช้างงาเดียวนอนอยู่จึงนำศีรษะกลับมาต่อให้ พระคเณศจึงฟื้นคืน ได้รับการให้อภัยที่ล่วงเกินพระศิวะและได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าคณะเทพของพระศิวะ
  • คัมภีร์สุประเภทาคม กล่าวว่า พระพิฆเนศเกิดจากการเสพสมกันระหว่างพระศิวะและพระนางปารวตีขณะทั้งสองพระองค์แปลงร่างเป็นช้าง
  • คัมภีร์ลิงคปุราณะ กล่าวว่า พระพิฆเนศเกิดจากการแบ่งกำลังส่วนหนึ่งของพระศิวะส่งไปยังครรภ์ของพระนางปารวตี เพื่อปราบเหล่าอสูรและยักษ์ร้ายที่บำเพ็ญเพียรจนได้พรจากพระศิวะ แต่ภายหลังไปก่อสงครามกับเหล่าเทพและพระอินทร์จนเดือดร้อนกันไปทั้งจักรวาล 
  • คัมภีร์พรหมไววรรตปุราณะ กล่าวว่า พระวิษณุได้ประทานพระพิฆเนศให้พระนางปารวตี เนื่องจากพระนางทรงประกอบพิธีปันยากพรตเพื่อบูชากพระวิษณุในวันขึ้น 13 ค่ำเดือนมาฆะ กำหนด 1 ปีเต็ม และพระนางก็ได้พระบุตรสมใจ แต่ในพิธีสมโภชน์พระบุตร พระเสาร์ผู้ที่ถูกภรรยาสาบก็ได้มาร่วมงาน คำสาบนั้นมีว่าหากพระเสาร์มองหน้าผู้ใดผู้นั้นถึงกาลพินาศทันที พระเสาร์มองไปที่พระพิฆเนศและเศียรของพระพิฆเนศก็หลุดหายไป ร้อนถึงพระวิษณุต้องทรงครุฑไปยังแม่น้ำบุษปภัทร เมื่อพบช้างตัวหนึ่งนอนหันหัวไปทางทิศเหนือจึงตัดหัวช้างมาต่อให้พระบุตร พระบุตรจึงฟื้นคืนชีพ
    • ในบางท้องถิ่นคัมภีร์ไววรรตปุราณะก็เล่าว่าเศียรพระพิฆเนศกุมารขาดเพราะถูกพระกัศยปฤาษีสาบ พระศิวะจึงต้องนำเศียรช้างเอราวัณมาต่อให้แทน
  • คัมภีร์สกันทปุราณะ กล่าวว่า พระพิฆเนศเกิดจากนางมาลินี นางรากษสที่มีหัวเป็นช้างที่ได้กินก้อนน้ำมันที่ปั้นจากน้ำมันรวมกับธุลีจากพระวรกายของพระนางปาราวตี ต่อมาพระนางปาราวตีได้ทรงรับกลับมาเลี้ยงเป็นโอรส เดิมทีพระพิฆเนศเป็นช้าง 5 เศียรแต่ต่อมาพระศิวะเสกให้ทั้งห้าเศียรรวมกันเป็นเศียรเดียว
  • คัมภีร์วราหปุราณะ กล่าวว่า พระพิฆเนศเกิดจากพระนลาฎ (หน้าผากของพระศิวะ) มีลักษณะเหมือนร่างจำลองของพระศิวะ ทำหน้าที่สร้างอุปสรรคขัขวางผู้ที่ไม่เหมาะสมไม่ให้ขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อจำกัดจำนวนประชากรบนสวรรค์ ต่อมาพระนางปารวตีทราบเข้าก็พิโรธที่พระศิวะสร้างเทวบุตรโดยที่พระนางไม่รู้เห็นจึงสาบให้พระพิฆเนศเศียรเป็นช้าง พุงพลุ้ย
  • คัมภีร์ปัทมปุราณะ กล่าวว่า พระพิฆเนศเกิดจากไคลของพระนางปารวตีขณะสรงน้ำ ที่พระนางทรงปั้นเป็นกุมารมีเศียรเป็นช้าง และพระคงคาเห็นว่าไคลนั้นเกิดจากมหาเทวีจึงไม่ควรปล่อยทิ้งไป พระคงคาจึงชุบให้มีชีวิตขึ้นแล้วรับเป็นบุตรของตน แต่ต่อมาก็ทรงนำไปถวายพระศิวะและพระนางปารวตีให้รับเป็นบุตร
  • คัมภีร์มัสตยปุราณะกล่าวถึงกำเนิดพระพิฆเนศคล้ายกับคัมภีร์ศิวปุราณะและปัทมปุราณะตรงที่พระพิฆเนศกำเนิดจากคราบไคลของพระนางปารวตีขณะสรงน้ำ แต่ต่างกับคัมภีร์ศิวปุราณะตรงที่พระกุมารสู้กับพระศิวะไม่ใช่เทพบริวาร และพระศิวะเป็นผู้ตัดเศียรพระกุมารไม่ใช่พระวิษณุ และต่างกับคัมภีร์ปัทมปุราณะตรงที่พระคงคามิใช่ผู้ชุบเลี้ยงพระพิฆเนศ แต่พระนางปารวตีนำน้ำจากแม่น้ำคงคามาประพรมชุบชีวิตให้พระกุมารเท่านั้น อีกทั้งในคัมภีร์ปัทมปุราณะพระพิฆเนศมิได้ถูกตัดเศียรหากแต่มีเศียรเป็นช้างมาแต่เริ่มแรก
เนื้อหากำเนิดพระพิฆเนศจากหนังสือ "พระศรีคเณศ มหาเทพแห่งความสำเร็จ" ซึ่งกล่าวถึงตำนานจากคัมภีร์คณะปัตตะยะ (ปุราณะทั้ง 18 และอุปราณะทั้ง 18)
  • ปุราณะที่ 1 กล่าวว่า พระพิฆเนศเกิดจากพระหทัยของพระนางปารวตี และเป็นบุตรที่เกิดจากดวงจิตแห่งศิวะเทพ เป็นเทวบุตรรูปงามที่มีเศียรเป็นช้าง
  • ปุราณะที่ 2 กล่าวว่า พระพิฆเนศเป็นเทวบุตรที่เกิดจากพระจิตแห่งพระศิวะพระองค์เดียวโดยปราศจากพระนางปาราวตี พระนางจึงเนรมิตให้พระเศียรของกุมารเป็นช้างด้วยเป็นของมงคลคู่โลก
  • ปุราณะที่ 3 จะคล้ายกับในคัมภีร์ศิวปุราณะที่เขียนไว้ข้างต้น
  • ปุราณะที่ 4 จะคล้ายกับในคัมภีร์ปัทมปุราณะที่เขียนไว้ข้างต้น
  • ปุราณะที่ 5 จะคล้ายกับในคัมภีร์พรหมไววรรตปุราณะ แต่ระบุเพิ่มเติมว่าพระพิฆเนศเป็นอวตารของพระกฤษณะ
  • ปุราณะที่ 6 จะคล้ายกับในคัมภีร์พรหมไววรรตปุราณะบางท้องถิ่น แต่ระบุเพิ่มเติมว่าเหตุที่พระพิฆเนศถูกฤาษีกัศยปะสาบนั้น เป็นเพราะพระศิวะหยุดพระสุริยเทพมิให้ฉายแสงเพื่อช่วยอสูรสุมาลิและมาลิผู้บูชาพระองค์ จนพระฤาษีกัศยปะ บิดาแห่งพระสุริยเทพโกรธและสาบให้ลูกของพระศิวะไม่มีเศียร
เนื้อหากำเนิดพระพิฆเนศจากหนังสือ "คเณศปกรณ์" ส่วนมากจะเป็นตามข้างต้นแต่มีการกล่าวถึงคัมภีร์ไวยวนะสาคม, บันทึกคติความเชื่อแบบไทยจากหนังสือ "นารายณ์สิบปาง" และนิทานพื้นบ้านที่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับกำเนิดพระพิฆเนศ
  • ไวยวนะสาคม กล่าวว่า พระพิฆเนศเกิดจากอากาศ และถือว่าทรงเป็นปรพรหมหรือปรมาตมัน
  • คติความเชื่อไทยสำนวนแรกกล่าวว่าพระพิฆเนศบังเกิดจากกองเพลิงพร้อมกับเศียรช้าง สำนวนที่สองกล่าวว่าพระพิฆเนศกำเนิดเป็นกุมารปกติ ต่อมาต้องเสด็จไปปราบอสุรภังคีแต่ต้องทรงโสกันต์เสียก่อน เทพบริวารจึงไปอัญเชิญพระวิษณุและพระพรหมมาเจริญพระเกศาเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ครานั้นพระวิษณุทรงบรรทมอยู่ เมื่อถูกปลุกจึงเผลอออกพระโอษฐ์ด้วยความขัดพระทัยว่า "ลูกหัวหาย จะนอนหลับให้สบายสักหน่อยก็ไม่ได้" และด้วยอำนาจแห่งวาจาสิทธิ์เศียรของพระกุมารก็อันตรธานไป ร้อนถึงพระวิษณุกรรมต้องไปหาเศียรโดยไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายที่ถึงที่ตายแล้วหรือนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกก็ใหเตัดเศียรนั้นมาต่อให้พระกุมาร พระวิษณุกรรมทรงพบช้างพลายตัวหนึ่งนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก จึงตัดหัวช้างไปเพื่อจะต่อเศียรให้พระกุมาร นอกจากนั้นยังมีตำนานพื้นบ้านที่เล่าว่าพระพิฆเนศกำเนิดเป็นกุมารปกติ เมื่อถึงเวลาโสกันต์เทพบริวารจึงไปอัญเชิญพระเป็นเจ้าและเทพองค์อื่นๆทุกพระองค์ยกเว้นพระอังคาร ซึ่งทำให้พระอังคารไม่พอใจมากจึงแอบมาตัดเศียรพระกุมารในวันพิธี เทพบริวารจึงไปอัญเชิญพระวิษณุกรรมมาเพื่อแก้ไข แต่เรื่องหลังจากนี้ไม่มีบันทึกไว้แน่ชัด บ้างก็ว่าต้องไปนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าไปสวดคาถาเศียรกุมารจึงต่อติด
  • นิทานพื้นบ้านเรื่องพรานป่ากับลูกชาย โดยเรื่องมีอยู่ว่ามีพรานป่าผู้หนึ่งได้ออกเดินทางจากบ้านจากเมียที่กำลังตั้งท้องอ่อนๆไปศึกษาวิชาอาคมจากอาจารย์หลายๆสำนักและฝึกฝนเป็นเวลา 20 ปีจนสำเร็จและได้ชื่อว่าเป็นผู้เรืองเวทย์ ในตอนที่พรานป่าเดินทางกลับบ้านพบโจรผู้หนึ่งพยายามขอเรียนวิชาจากตน แต่พรานป่าปฏิเสธทำให้โจรผิดหวัง ฝ่ายโจรจึงเฝ้ารอจนสบโอกาสที่จะทำร้าย โจรได้เอาไม้ทุบศีรษะพรานป่าจนสิ้นใจและได้ตัดศีรษะของพรานป่าออกไปด้วย ฝ่ายบุตรชายของพรานป่าก็ได้เจริญวัยขึ้นเป็นหนุ่มได้รับรู้เรื่องราวของบิดาจึงเดินทางออกตามหาจนพบร่างของบิดาอยู่ในป่าลึกจากความช่วยเหลือของเทวดาที่รักษาร่างของพรานป่าไว้ เทวดาบอกแก่บุตรนายพรานให้ไปหาศีรษะของมนุษย์ที่ตายแล้วในวันนั้นและนอนหันศัรษะไปทางทิศตะวันตกมาต่อกับร่างบิดาก่อนตะวันตกดินแล้วบิดาจะฟื้นคืน ฝ่ายบุตรชายก็พยายามหามนุษย์ที่ตายในวันนั้นแต่ก็หาไม่พบจนตะวันใกล้ตกดินจึงมาพบช้างพลายงาสั้นข้างยาวข้างนอนตายอยู่และหันหัวไปทางทิศตะวันตก บุตรชายจึงตัดสินใจตัดหัวช้างมาต่อให้ร่างของบิดา ทันใดนั้นบิดาก็ฟื้นคืนขึ้นมาแต่เนื่องจากมีศีรษะเป็นช้างจึงพูดไม่ได้ แต่ก็ได้สื่อสารกับบุตรทางอื่นให้เรียนรู้วิชาจากรอยสักตามร่ายกายของตน ครั้นพรานป่าเห็นความอัตคัดของครอบครัวตนจึงใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้ครอบครัวเกิดความสมบูรณ์พูนสุข นอกจากนั้นพรานป่าก็ยังช่วยผู้ที่มาขอความช่วยเหลือทุกครั้งจนได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ข้อสันนิษฐานที่มาความเชื่อเรื่องพระพิฆเนศ

จากหนังสือ "แกะรอยพระคเณศ" ได้กล่าวถึงข้อสันนิษฐานที่มาความเชื่อเรื่องพระคเณศอยู่สามข้อด้วยกันดังนี้

  1. มาจากความเชื่่อของชาวพื้นเมืองโบราณที่นับถือพระอาทิตย์เป็นเทพเจ้า โดยมีหนูเป็นสัญลักษณ์ของความมืด การที่พระพิฆเนศขี่หนูมีความหมายถึงชัยชนะของแสงอาทิตย์ที่เอาชนะความมืด
  2. มาจากความกลัวอันตรายจากสัตว์ป่า - ช้างป่า - ที่พัฒนามาเป็นความเชื่อยกให้ช้างป่าเป็นเทพเจ้าของชาวพื้นเมือง
  3. มาจากความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือภูตผีปีศาจในป่าที่มีมากมาย และการรวมตัวกันของภูตผีปีศาจกลายเป็นเทพช้าง
  4. อาจได้รับอิทธิพลมาจากอียิปต์ สมัยเฮเลนีสติคทางตะวันออกกลางและอินโดกรีก ตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เนื่องจากเทพเจ้าจำนวนมากมีเศียรเป็นสัตว์ต่างๆ