วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เทศกาลคเณศ-จตุรถีหรือโชตี

เทศกาลพิเศษ




วันแรม 4 ค่ำเดือน 10 (ตามจันทรคติคือเดือนสิงหาคมและกันยายน) ถือเป็นวันประสูติของพระพิฆเนศและเป็นเทศกาลคเณศ-จตุรถีหรือโชตี มักจะมีการนำรูปสักการะของพระพิฆเนศมาบูชา และมีการตระเตรียมงานก่อน 21 วันโดยจะต้องใช้ใบไม้และดอกไม้ต่างๆ 21 ชนิด และบูชาเรียงลำดับไปตลอด 21 วัน ด้วยเหตุของการบูชาด้วยใบไม้นี้เองพิธีการบูชาพระพิฆเนศในเทศกาลนี้จึงเรียกอีกชื่อว่า เอกวีสติ ปัตรบูชา ที่แปลว่าการบูชาด้วยใบไม้ 21 ชนิด

สำหรับการบูชาในเทศกาลคเณศ-จตุรถีนี้ ผู้บูชาจะนำรูปปั้นสักการะของพระคเณศประดิษฐานไว้หน้าบ้านหรือกลางบ้านชโลมด้วยมูลวัวแล้วโปรยทรายอ่อนให้ทั่วองค์ ปิดทับด้วยใบไม้ โรยเมล็ดข้าวอีกชั้นแล้วห่มผ้าผูกด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นถวายดอกไม้ ขนมต้ม มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย และท่องพระนามทั้ง 108 ของพระองค์และบูชาด้วยใบไม้ ดอกไม้ไปตลอดทั้ง 21 วัน

ใบไม้และดอกไม้ที่นำมาบูชาพระพิฆเนศมีดังต่อไปนี้

ใบมาจี (Machi or Macikkai) หรือใบมาจีบัตร มีชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Imprerata Cylindrica ตรงกับต้นหญ้าคาของไทยพร้อมกับคำบูชาว่า"สุขุมาย นมะ มาจีปตรํ ปูชยามิ " ภาพแรกอ้างอิงมาจาก HinduPad ซึ่งหน้าตาจะแตกต่างจากการตีความของไทย

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.500059130005943.123937.139371209408072&type=3


ใบพฤหตี (Brihati or chitti mulaga) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Carissa Carandas ตรงกับชื่อภาษาไทยว่า หนามแดง มะนาวไม่รู้โห่ หนามขี้แฮด หนามพรหม มีคำกล่าวบูชาว่า "คณาธิปาย นมะ พฤหตีปตรํ ปูชยามิ" 


ใบพิลว (Bilva or Maredu) คือใบมะตูม มีคํากล่าวบูชาว่า "อุมาปุตราย นมะ พิลวตรํ ปูชยามิ "


ใบทูรวา (Durva Grass) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Cynodon Daetylon คือหญ้าแพรก คำกล่าวบูชาว่า "คชานนาย นมะ ทูรวายุคมํ ปูชยามิ"



ใบทุตูระ (Datura) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Stramonium คือต้นลำโพง หรือ ชุมเห็ดเทศ ใช้แก้พิษแมลงกัดต่อยได้ดี คำกล่าวบูชาว่า "หรสูนเว นมะ ทุตตูรปตรํ ปูชยามิ "


ใบพทรี (Badari) คือใบพุทรา มีคำกล่าวบูชาว่า "ลบโพทราย นมะ พทรีปตรํ ปูชยามิ"


ใบอปามารค (Apa Marga) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Achyrantus Aspera คือต้นพันธุ์งู ใช้รักษาพิษจากสัตว์กัดต่อย โดยใช้ใบมาคั้นน้ำ มีคำกล่าวบูชาว่า "คุหาครูชาย นมะ อปามารคปตรํ ปูชยามิ"


ใบตุลสี (Tulsi) คือใบกะเพรา มีคำกล่าวบูชาว่า "คชกรณาย นมะ ตุลสีปตรํ ปูชยามิ" แต่ก็มีบางตำราที่ว่าไม่ควรนำใบกะเพรามาบูชาเนื่องจากมีตำนานหนึ่งเล่าว่าขณะที่พระคเณศกำลังเดินทางอยู่บริเวณแม่น้ำคงคา มีเจ้าหญิงพระนามว่าธรรมวาจา (Dharmadwaja) เกิดทอดพระเนตรเห็นและหลงรักพระคเณศเข้า แต่พระคเณศปฏิเสธ นางจึงสาบพระพิฆเนศให้ไร้คู่ พระพิฆเนศจึงสาบนางกลับให้นางเป็นปีศาจชั่วกัปชั่วกัลย์ เมื่อได้ยินคำสาปของพระคเณศนางเกิดหวาดกลัวและร้องขอพระคเณศให้ถอนคำสาป พระคเณศจึงแก้คำสาปให้เบาลง ให้นางเป็นปีศาจเพียงชั่วเวลานึงเท่านั้นแล้วให้นางไปเกิดใหม่เป็นใบตุลสี นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมพระคเณศจึงไม่ชอบใบไม้ชนิดนี้


ใบจูตะ (Choota or Mango leaves) หรือใบมะม่วง มีคำกล่าวบูชาว่า "เอกทนตาย นมะ จูตปตรํ ปูชยามิ"


ใบกรวีระ (Karaveera) ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Thevetia Nerifolium คือต้นรำเพย หรือ ยี่โถฝรั่ง มีคำกล่าวบูชาว่า "วิกฏาย นมะ กรวีรปตรํ ปูชยามิ"


ใบวิษณุกรานตะ (Vishnu Kranta) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Evolvulus Alisnoides มีคำกล่าวบูชาว่า "ภินนทนตาย นมะ วิษณุกรานตปตรํ ปูชยามิ "


ใบทาฑิมิ (Daadimi or Pomegranate) คือใบทับทิม มีคำกล่าวบูชาว่า "วฏเว นมะ ทาฑิมีปตรํ ปูชยามิ"


ใบเทวมารุ (Devadaru) ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Cedrus Deodora ใบเล็กกลมมีกลิ่นหอมป้องกันยุงและแมลงได้ดี มีคำกล่าวบูชาว่า "สรเวศวราย นมะ เทวทารุปตรํ ปูชยามิ"


ใบมรุวกะ (Maruvaka) หรือ มทนา ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Origanum Vulgra กล่าวคำบูชาว่า "ผาล จนทราย นมะ มรุวกปตรํ ปูชยามิ"


ใบสินธุวาร (Sidhuvara) คือใบคนทีเขมา มีคำกล่าวบูชาว่า "เหรมทาย นมะ สินธุวารปตรํ ปูชยามิ"


ใบชาชี (Jaaji) คือใบจันทร์เทศ มีคำกล่าวบูชาว่า "ศุรุกรุณาย นมะ ชาชีปตรํ ปูชยามิ"


ใบคัณฑาลิ (Gandaki or Gandalee) มีดอกสีขาว มีคำกล่าวบูชาว่า "สุราครชาย นมะ คณฑาลิปตรํ ปูชยามิ" เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง พบมากทางใต้ของอินเดีย เติบโตได้ดีในที่แล้งจัด


ใบสมี (Shamee) มีคำกล่าวบูชาว่า "อภิวกตราย นมะ สมีปตรํ ปูชยามิ" เป็นพืชที่มีหนามแหลมและมักใช้เป็นสิ่งทดแทนการบูชาด้วยดอกไม้ในยามที่ดอกไม้ขาดแคลน


ใบอัศวัตถา หรือ อัสสัตถ คือไม้โพธิ์  มีคำกล่าวบูชาว่า "วินายกาย นมะ อศวตปตรํ ปูชยามิ"



ใบอรชุน ตรงกับไม้ไทยว่า ต้นสลักหลวง ต้นสลักป่า ต้นยอป่า มีคำกล่าวบูชาว่า "สุรเสวิตาย นมะ อรชุนปตรํ ปูชยามิ"


ใบอรก คือต้นรักของไทยเรา มีคำกล่าวบูชาว่า "กปิลาย นมะ อรปปตรํ ปูชยามิ"


เมื่อครบ 21 วันแล้วก็ทำพิธีแห่รูปสักการะนั้นไปยังสระน้ำหรือแม่น้ำ ถ่วงไว้ในน้ำ อันหมายถึงเป็นการส่งเสด็จท่านไปยังไกรลาสและเชื่อว่าผ้บูชาจะได้รับพรแห่งความสำเร็จทุกอย่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น