วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสำคัญของพระพิฆเนศในนาฏศิลป์ไทย ตอนที่ 2

Natya Ganesha Image from Internet
ตามตำนานการฟ้อนรำของอินเดีย มหาเทพพระศิวะทรงเป็นอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวอินเดียยกย่องให้พระองค์เป็น "นาฏราช" หรือราชาแห่งการฟ้อนรำ จึงถือกันว่าพระศิวะเป็นผู้ให้กำเนิดนาฏศิลป์ ในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ ได้กล่าวถึงการฟ้อนรำของพระองค์ว่ามีบทบาทสำคัญมากในการเป็นต้นแบบแห่งการฟ้อนรำและแสดงถึงพลังในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจักรวาล 5 ประการได้แก่ การสร้าง การดูแลให้คงอยู่ การทำลสย การปิดบัง และการอนุเคราะห์ เป็นท่ารำลักษณะเข้มแข็งอย่างบุรุษ มีทั้งหมด 108 ท่า

ไทยได้รับอิทธิพลศิลปะนาฏกรรมของอินเดียใต้นี้ และนำมาดัดแปลงให้เหมาะสม สวยงามอย่างไทยๆจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไปในที่สุด เช่น การแสดงนาฏศิลป์ไทยชุด ตระนาฏราช

ตามตำนานกล่าวว่าทรงฟ้อนรำท่ามกลางคณะเทพซึ่งทรงดนตรีชนิดต่างๆ พระพรหมตีฉิ่ง พระลักษมีร้องเพลง พระคเณศตีกลอง และเทพบุตรนนทิตีตะโพน เป็นต้น และเล่ากันว่าพระพิฆเนศผู้ทรงปัญญาฉลาดเฉลียวสามารถจดจำท่าร่ายรำของพระศิวะได้ทั้งหมด ภาพพระพิฆเนศตีกลองปรากฏอยู่ในทับหลังศิวนาฏราช ศิลปแบบนครวัด ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ปราสาทศรีขรภูมิ สุรินทร์
ทับหลังศิวนาฏราชที่ปราสาทศรีขรภูมิ และภาพพระพิฆเนศตีกลอง
พระคเณศมีฐานะเป็นบรมครูองค์หนึ่งในพิธีไหว้ครูของนาฏศิลป์ไทย ที่มีรูปเคารพลักษณะหัวโขนมีเศียรเป็นช้าง สีแดง งาหักเหลือเพียงข้างเดียว ทรงมงกุฏเทริดน้ำเต้ากลม สาเหตุที่ช่างไทยปั้นหัวโขนพระพิฆเนศให้มีสีแดงนั้นอาจเป็นเพราะความเชื่อจากนารายณ์สิบปางว่าทรงกำเนิดจากพระเพลิง หรือกำเนิดของพระองค์จากดอกบัวที่ผุดขึ้นจากนาภีของพระนารายณ์ในขณะบรรทมอยู่กลางเกษียรสมุทร และนอกจากนั้นอาจจะมาจากความเชื่อของชาวเอเชียที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ สีแห่งมงคลและความรุ่งเรือง ความกล้าหาญ พลังงานและโชคลาภ

นอกจากทรงเป็นบรมครูทางนาฏศิลป์แล้วพระพิฆเนศยังปรากฏในฐานะตัวละครในนาฏศิลป์ไทยด้วย โดยปรากฏในเนื้อหาดังต่อไปนี้

1. พระคเณศในรามเกียรตื์ไทย
คัมภีร์นารายณ์ 10 ปาง เก็บความมาจากเรื่องรามายณะ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะเรื่องการอวตารของพระนารายณ์เท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงกำเนิดของเทพเจ้าต่างๆรวมถึงพระพิฆเนศด้วย ในงานนาฏยกรรมประเภทโขนจะเล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้นเพราะถือว่าเป็นเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าและมีการนำเรื่องของพระพิฆเนศมาดัดแปลงเป็นการแสดงชุดต่างๆดังนี้

  • ระบำกุญชรเกษม จากเทพนิยายเรื่อง "กำเนิดพระพิฆเนศ" ซึ่งกรมศิลปากรโดยนายเสรี หวังในธรรมศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง จัดทำบทละครโดยนำความมาจากรามเกียรตื์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 และหนังสือเทวปาง ตอนพระคเณศกำเนิดจากดอกบัวที่ผุดขึ้นจากนาภีของพระนารายณ์ ด้วยเหตุที่กุมารน้อยมีพลังอำนาจมหาศาล จึงถือกันว่าทรงเป็นปฐมบทแห่งการกำเนิดช้างเผือกบัลดาลให้เกิดช้างเผือกสิบตระกูล ดังนั้นกรมศิลปากรจึงประดิษฐ์การแสดงชุดระบำกุญชรเกษมขึ้น
  • นอกจากนั้นกรมศิลปากรยังแต่งบทการแสดงอื่นๆที่มีพระพิฆเนศเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ ระบำวานรพงษ์, ระบำวีรชัยสิบแปดมงกุฏ ซึ่งมาจากตอนหนึ่งของรามเกียรติ์ที่พระศิวะให้เหล่าเทพอวตารมาเป็นวานรทรงฤทธิ์เพื่อช่วยเหลือพระรามปราบอธรรม ซึ่งพระคเณศได้อวตารมาเป็นวานรชื่อ "นิลขัน" หนึ่งในสิบแปดมงกุฏของกองทัพวานร โดยมีสีกายเป็นสีแดง บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 ที่เกี่ยวกับตอนนี้กล่าวไว้ว่า                                     
                                            "พระราหูฤทธิไกรชัยชาญ        เป็นทหารชื่อนิลปาขัน
                                             พระพินายเป็นนิลเอก             พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน"
                                   "พานร ตนนี่นี้                       นามนิล ขันพ่อ
                                    กายเหลื่อมสีหงส์ดิน             เดชแกล้ว
                                    คือพระพิเนตรพิน                 ผันภาค มานา
                                    เปรียบดุจขุนผลแก้ว              เกิดด้วยบุณย์ราม"
2. พระคเณศในละครเบิกโรง
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพิฆเนศเป็นอย่างมาก ได้ทรงนำความมาจาก "พรหมไววรรตปุราณคัมภีร์" พระราชนิพนธ์เป็นบทละครเบิกโรงเรื่อง "พระคเณศร์เสียงา" ตามที่เหมาะสมแก่การเล่นละคร โดยนำความจากตอนพระคเณศสู้กับปรศุราม โดยทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนเสภาไว้ว่า

                                  "แถลงเรื่องพระคเณศวิเศษศักดิ์        ลูกพระจอมไตรจักรมหาศาล
                         เรืองอิทธิฤทธิ์ไกรวิไชญชาญ                     ชำนิชำนาญเจนจิตวิทยา
                         เศียรเธอเปนเศียรกะรีสีแดงชาด                 แสนประหลาดน่าดูเป็นหนักหนา
                         แต่เยาว์วัยเธอไซร้ได้เสียงา                      เพราะแกล้วกล้าสามิภักดิ์พระบิตุรงค์
                         ด้วยรามปรศุมาไกรลาส                            จะเฝ้าพระปิตุราชดังประสงค์
                         จะเข้าไปในวิมานบรรยงก์                          พระคชพักตร์จึงตรงเข้าห้ามปราม
                         จึ่งได้เกิดโกรธขึ้งถึงวิวาท                          ต่างคนต่างอาจไม่เกรงขาม
                         พระคณาบดีเสียทีพราหมณ์                       ปรศุรามขว้างขวานไปราญรอน
                         คเณศเห็นขวานเพ็ชรระเห็จมา                    ก็รู้ว่าพระบิดามหิศร
                         ประทานพราหมณ์รามณรงค์ให้คงกร            จะสู้ขวานพระบิดรไม่ควรกัน
                         จึ่งก้มเศียรคอบรับให้มั่นเหมาะ                   ขวานจำเพาะถูกงาข้างหนึ่งสบั้น
                         จึ่งคงงาข้างเดียวแต่ปางนั้น                        เลยมีนามว่าเอกทันต์บรรฤาแรง
                         กายาเธอจ้ำม่ำและล่ำสัน                           ผิวโรหิตะพรรณกั่นกำแหง
                         ทรงเครื่องเรืองรามอร่ามแดง                      แสงกายจับแสงวราภรณ
                         เปนใหญ่ในปวงวิทยา                                สง่าทรงซึ่งวินัยสโมสร
                         เนืองนิตย์ประสิทธิ์ประสาทพร                     สถาวรสวัสดิ์วัฒนา
                         ชนใดหวังข้ามอุปะสรรค                             พึ่งพำนักพิฆเนศนาถา
                         สำเร็จเสร็จสมดังจินดา                               พระองค์พาข้ามพิฆนะจัญไร"

ต่อมาอาจารย์เสรี หวังในธรรมแห่งกรมศิลปากรได้นำมาจัดทำบทละครใหม่โดยความเหมือนเดิมชื่อว่า "พระวินัยบดีศรีศิลปะ"

(ข้อมูลจาก พระคเณศ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยา Ganesha: God of Arts)

2 ความคิดเห็น: