วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระพิฆเนศ หนึ่งในเทพผู้พิทักษ์พุทธสถาน

ภาพจาก Internet

จากความเชื่อของบรรพบุรุษไทยสมัยโบราณในยุคที่นิยมสร้างวัดวาอารามมากกว่าศูนย์การค้าหรือคอมมิวนิตี้มอลล์ ท่านนิยมอัญเชิญ (หรือวาด) รูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ที่หน้าต่าง บานประตูวัดและโบสถ์ด้วยเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นช่วยพิทักษ์รักษาพุทธสถาน ป้องกันภัยอันตรายและสิ่งอัปมงคลไม่ให้กล้ำกรายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และหนึ่งในเหล่าเทพที่บรรพบุรุษไทยอัญเชิญมารักษาศาสนาสถานแห่งสำคัญๆในกรุงเทพ๚ ก็คือพระพิฆเนศ เทพฮินดูผู้ทรงปัญญาและขจัดอุปสรรคทั้งหลายนั่นเอง ศาสนสถานในกรุงเทพ๚ ที่ปรากฏภาพจิตรกรรมพระพิฆเนศในฐานะเทพผู้พิทักษ์ ได้แก่

1. พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
ภาพจิตรกรรมของพระพิฆเนศมีปรากฏอยู่บนหน้าต่างบานที่ 14 ของพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้างมองเห็นได้ 3 พักตร์ มี 8 กร ทรงศาสตราวุทธขอช้าง, ขวาน, ค้อน, แก้วมณีสีขาว, ตรีศูล, เชือกบ่วงบาศและดอกบัวตูม ข้างใต้ภาพมีข้อความว่า "พระพิกฆเนศวร"

อีกภาพที่ปรากฏบนหน้าต่างบานที่ 19 และ 20 โดยบานที่ 19 ปรากฏเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้าง มี 8 กร ทรงขอช้าง ขวาน งาช้าง ตรีศูล เชือกบ่วงบาศ พัต ภาพระบุข้อความว่า "พระวิกฆิเนศวร" ส่วนบานที่ 20 ต่างกันตรงที่ทรงมี 2 กร ทรงตรีศูลและดอกบัวตูม มีข้อความระบุว่า "พระวิฆเนศวร"

บนหน้าต่างบานที่ 25 ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีน้ำตาล มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กรทรงขอช้าง แก้วมณี บ่วงบาศ และมีพาหนะทรงเป็นหนูขาวมุสิกะ มีข้อความระบุว่า "พระมหาวิฆเนก ทรงมุสิกะพาหนะปราบสระภังคี" สระภังคีก็คืออสุรภังคีที่กล่าวถึงในตำนานกำเนิดพระพิฆเนศนั่นเอง

บนหน้าต่างบานที่ 26 ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีน้ำตาล มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กร ทรงขอช้าง คัมภีร์ใบลาน เชือกบ่วงบาศ แก้วมณีสีขาว และมีพาหนะทรงเป็นเต่า ภาพนี้มีข้อความระบุว่า "พระมหาวิฆเนกทรง...พาหนะไปขษิรสมุทร" ในหนังสือได้กล่าวว่า ภาพพระพิฆเนศประทับบนหลังเต่านี้คล้ายกับพระคเณศในลัทธิมหายานบางรูป และคล้ายกับรูปเคารพของศาสดาองค์ที่ 23 (PARSVA YAKSA) ของศาสนาเชนด้วย

บนหน้าต่างบานที่ 43 ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้าง มี 2 กร ทรงสังข์กับเชือกบ่วงบาศ ที่ภาพมีข้อความระบุว่า "พระมหาวิฆิเนก" 

บนหน้าต่างบานที่ 44 เป็นรูปพระเทวกรรมหรือพระพิฆเนศในด้านที่เป็นบรมครูทางคชศาสตร์ ปรากฏจิตรกรรมพระพิฆเนศเป็นเทพบุรุษผิวกายสีน้ำตาล มีเศียรเป็นช้าง มี 2 กร ทรงสังข์กับไม้เท้า ที่ภาพมีข้อความระบุว่า "พระเทวกรรม" ชื่อของพระเทวกรรมปรากฏในคัมภีร์นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวงในตอนต้นเรื่อง ในพิธีกรรมที่พระนารายณ์ปราบช้างเอกทันต์ ทรงร่ายมนตร์ เอาพระเฆอปักลงบนพื้น จากนั้นทรงนำรัศมีของพระเพลิงมาประดิษฐาน ทรงถอดสายธุรำมาอธิษฐานเป็นพระเทวกรรม ให้ประจำทางด้านซ้ายแล้วให้พระพิฆเนศประจำทางด้านขวา จากนั้นก็ทรงลงมือปราบช้างเอกทันต์ 

2. พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาสหรือวัดพระแก้ววังหน้า
ภาพจิตรกรรมของพระพิฆเนศมีปรากฏอยู่บนหน้าต่างบานที่ 7 หน้าต่างบานที่ 8 หน้าต่างบานที่ 9 และหน้าต่างบานที่ 10 ของพระอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า 

จิตรกรรมบนหน้าต่างบานที่ 7 ปรากฏเทพบุรุษมีเศียรเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว มี 2 กร ทรงบ่วงบาศและงาที่หัก ซึ่งอาจเทียบได้กับภาพ "พระเทวะกรรม์ยืน" ในตำราภาพ  หมายเลข 32 ส่วนบนหน้าต่างบานที่ 8 ปรากฏเป็นเทพบุรุษลักษณะคล้ายบานที่ 7 แต่ในพระหัตถ์ทรงถืองาหักอย่างเดียว และประทับนั่ง เทีบได้กับภาพ "พระเทวะกรรม์หนั่ง" ในตำราภาพ  หมายเลข 32

จิตรกรรมบนหน้าต่างบานที่ 9 ปรากฏเป็นเทพบุรุษผิวกายสีขาว มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กร ทรงศาสตราวุทธขอช้าง, ค้อน, เชือกบ่วงบาศและงาที่หัก พาหนะทรงคือเต่า มีลักษณะใกล้เคียงกับภาพ "พระมหาวิกฆิเนตรไปเกษียรสมุทร" ส่วนหน้าต่างบานที่ 10 ปรากฏเป็นลักษณะรูปกายเหมือนบานที่ 9 แต่ทรงศาสตราวุทธ ก้อนเหล็กแดง, งาที่หัก, บ่วงบาศมัดอสูรหน้าเป็นช้าง หางเป็นปลาอยู่เบื้องล่าง
พาหนะทรงคือหนูขาวมุสิกะ ซึ่งตรงกับภาพ "พระมหาวิกฆิเนตรปราบอสูรภังฆี" ในตำราภาพ  หมายเลข 70 และจรงกับภาพจิตรกรรม "พระมหาวิฆเนก ทรงมุสิกะพาหนะปราบสระภังคี" หลังบานหน้าต่างที่ 25 ของพระอุโบสถวัดสุทัศน์ 

(ส่วนภาพถ่ายของสถานที่และจิตรกรรมจะทยอยอัพเดตในครั้งถัดไป)
(ข้อมูลจาก "เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธสถาน")

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น