วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รูปบูชาพระพิฆเนศในยุคสมัยต่างๆ

ลักษณะของรูปสักการะของพระพิฆเนศ แบ่งออกเป็น 4 ยุคได้แก่ ยุคดึกดำบรรพ์, ยุคคลาสสิค, ยุคกลางและพระพิฆเนศในยุคใหม่ 

การสร้างรูปบูชาพระพิฆเนศในยุคดึกดำบรรพ์อยู่บนพื้นฐานของความเคารพที่มีต่อเทพดั้งเดิมของชนพื้นเมือง ลักษณะของเทวรูปแบบดั้งเดิมจะเป็นก้อนหินธรรมชาติ สร้างด้วยรูปทรงง่ายๆ โดยแกะสลักเป็นรูปเทพเศียรเป็นช้างป่า ลำตัวเป็นบุรุษร่างอ้วน ประทับนั่ง มีการแต้มสีที่นลาฏของเทวรูปและประดับด้วยดอกไม้ แต่ไม่มีการทรงเครื่องศาสตราวุทธหรืออาภรณ์อันวิจิตรแต่อย่างใด 

ต่อมาในยุคคลาสสิค (พุทธศตวรรษที่ 4-5 ถึงพุทธศตวรรษที่ 14-15) การประดิษฐ์เทวรูปพระพิฆเนศในอินเดียมีความสง่างามแต่โดยมากไม่ทรงเครื่องประดับ เช่น เทวรูปที่มถุรา เมืองคุปตะ ปั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10, เทวรูปหินของพระพิฆเนศในโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร ปั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10, เทวรูปหินของพระพิฆเนศในขเมร สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13, เทวรูปหินของพระพิฆเนศที่ปราจีนบุรี สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 

ศิลปะการสร้างเทวรูปพระพิฆเนศในยุคกลาง (พุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 23-24) ของอินเดีย ได้ปรากฏว่าเทวรูปพระพิฆเนศมีหลายปางมากขึ้นและมีเครื่องทรงเพิ่มจากสองยุคก่อนอย่างมาก ส่วนวัสดุที่ใช้สร้างเทวรูปมีทั้งสัมฤทธิ์และหิน เช่น เทวรูปพระพิฆเนศสัมฤทธิ์ในโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร สร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง, เทวรูปหินในพิพิธภัณฑ์จันทรเกษม สร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง, เทวรูปหิน พบที่จังหวัดพังงา สร้างสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-16 และเทวรูปพระพิฆเนศสัมฤทธิ์ พบที่จังหวัดพังงา สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สมัยนั้นเรียกพระพิฆเนศว่า มหาวิคิเนกสุระ

การสร้างรูปสักการะพระพิฆเนศสมัยใหม่ (300-400 ปีที่ผ่านมา) เริ่มมีการประดิษฐ์ปางใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่น ปางทารกะคณบดี (ทารกนอนแป, ออกคลาน) ปางสายาสนคณบดี (นอนเล่น), ปางสังคีตคณบดี (เล่นดนตรี) และปางยาตราคณบดี (เดินทางแสวงบุญ) แต่ปางใหม่ๆเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีตำนานที่เกี่ยงข้อง ในอินเดียมีการประดิษฐ์รูปสักการะพระพิฆเนศใช้คอมพิวเตอร์ที่พนักงานไอทีตั้งไว้บูชาก่อนเปิดเครื่องทำงาน

พระพิฆเนศได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งการริเริ่ม ซึ่งมักได้รับการบูชาเมื่อมีการตั้งกิจการใหม่ หรือการทำกิจการงานใหม่ๆ นอกจากนั้นยังเป็นเทวะในศาสนาฮินดูที่เป็นผู้เชื่อมโยงความเชื่อของผู้คนในยุคดึกดำบรรพ์จนถึงยุคใหม่โดยจะเห็นได้จากรูปแบบความพัฒนาและความสร้างสรรค์จากความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพิฆเนศ

(ข้อมูลจาก หนังสือพระพิฆเนศ มหาเทพฮินดู ชมพูทวีปและอุษาคเนย์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น